บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 09.10.2023

คุณเคยหัวหมุนกับตารางงานที่เต็มแน่น เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนบ้างไหม? การตัดสินใจว่าจะลงมือทำแต่ละงานเมื่อใด อย่างไร และกับใคร เป็นหนึ่งในแง่มุมพื้นฐานที่สุดของการจัดการโครงการ อย่างไรก็ตาม การจะเชี่ยวชาญทักษะพื้นฐานเหล่านี้ได้ต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะงานของคุณได้อย่างถ่องแท้ หากคุณคิดว่าตัวเองกำลังประสบปัญหาในการบริหารเวลาหรือการจัดลำดับความสำคัญของงาน ลองใช้ “Eisenhower Matrix” เป็นกรอบความคิดเพื่อช่วยหาทางฝ่าฟันกองงานที่รออยู่ดูไหม?

Eisenhower Matrix คืออะไร?

Eisenhower Matrix คือเทคนิคที่ตั้งชื่อตามดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาวิธีการจัดการงานและเวลาขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถ 1) ประเมินความเร่งด่วนและความสำคัญของแต่ละงาน และ 2) ตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการทำงานเหล่านั้นให้สำเร็จ

ความแตกต่างระหว่างงานเร่งด่วนและงานสำคัญคือ งานเร่งด่วนมีกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการทำงานให้เสร็จสิ้น ในขณะที่ความสำคัญของงานขึ้นอยู่กับว่างานนั้นเกี่ยวข้องกับเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จมากน้อยเพียงใด

งานเร่งด่วนต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด งานเหล่านี้อาจเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่ให้ความสนใจทันทีหรือไม่ทำให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ความล่าช้าของคุณอาจส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงการของคุณอย่างแน่นอน

ตัวอย่างงานเร่งด่วน:

  • เพื่อนร่วมงานขอความช่วยเหลือ
  • การอนุมัติเอกสาร
  • วิกฤติ ความขัดแย้ง หรือเหตุฉุกเฉินในที่ทำงาน

ในทางกลับกัน งานสำคัญอาจไม่มีกำหนดเวลาที่เร่งมากและอาจเป็นโครงการระยะยาว แต่งานเหล่านี้จำเป็นต่อความสำเร็จของโครงการของคุณ

ตัวอย่างงานสำคัญ:

  • การสร้างแผนผังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • การสร้างความสัมพันธ์
  • การพัฒนาศักยภาพของทีม

เราจะสร้าง Eisenhower Matrix ได้อย่างไร?

การสร้าง Eisenhower Matrix ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่วาดตารางสองคูณสอง แกน X ใส่ “เร่งด่วน” และ “ไม่เร่งด่วน” และแกน Y ใส่ “สำคัญ” และ “ไม่สำคัญ” ตารางของคุณควรมีหน้าตาดังนี้:

ที่มา: ProductPlan 

ตอนนี้คุณมีตารางสี่ช่องอยู่ในมือ ได้แก่ เร่งด่วน/สำคัญ, เร่งด่วน/ไม่สำคัญ, ไม่เร่งด่วน/สำคัญ และไม่เร่งด่วน/ไม่สำคัญ มาแบ่งงานของคุณลงในแต่ละช่องกัน

1. เร่งด่วน/สำคัญ (“ทำทันที”): งานที่อยู่ในหมวดหมู่นี้เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องดำเนินการโดย คุณ ทันที (หรือภายในกรอบเวลาที่กำหนด)

ตัวอย่างงานเร่งด่วน/สำคัญ:

  • เตรียมตัวสำหรับการประชุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ
  • ทำผลงานให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา

2. เร่งด่วน/ไม่สำคัญ (“มอบหมาย”): งานที่อยู่ในช่องนี้จำเป็นต้องถูกจัดการทันที แต่ไม่จำเป็นต้องให้คุณมีส่วนร่วมโดยตรง คุณสามารถมอบหมายงานประเภทนี้ให้คนอื่นไปจัดการแทนคุณได้

ตัวอย่างงานเร่งด่วน/ไม่สำคัญ:

  • ส่งดอกไม้ไปงานศพ
  • ค้นหาสถานที่จัดประชุมในนาทีสุดท้าย

3. ไม่เร่งด่วน/สำคัญ (“ตัดสินใจ”): งานในลักษณะนี้ต้องดำเนินการอย่างใส่ใจ เนื่องจากมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าของโครงการของคุณ อย่างไรก็ตาม งานเหล่านี้สามารถทำได้ในระยะยาว เนื่องจากไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่แน่นอน

ตัวอย่างงานไม่เร่งด่วน/สำคัญ:

  • การวางกลยุทธ์ระยะยาว
  • ลดอุปสรรคในการเข้าร่วมองค์กรของคุณสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมใหม่
  • ค้นหาผู้สมัครจากกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น

4. ไม่เร่งด่วน/ไม่สำคัญ (“ลบทิ้ง”): คุณไม่จำเป็นต้องใส่งานเหล่านี้ในตารางงานของคุณ เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประสิทธิภาพการทำงาน และยังดึงสมาธิหรือความสนใจของคุณไปจากเป้าหมายรายวันหรือภาพรวมใหญ่อีกด้วย

ตัวอย่างงานไม่เร่งด่วน/ไม่สำคัญ:

  • การประชุมที่สามารถเป็นอีเมลได้
  • เรื่องซุบซิบในที่ทำงาน

เรารู้ว่าการจัดการโครงการไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพแวดล้อมในที่ทำงานของคุณดำเนินไปอย่างรวดเร็วและต้องการให้คุณพร้อมตอบสนองได้ตลอดเวลา เราหวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยให้คุณระบุได้ว่าเวลาไหนที่คุณเป็นที่ต้องการมากที่สุด และจะทำงานให้สำเร็จอย่างไรโดยไม่เปลืองเวลาและพลังงานทั้งหมดของคุณ

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top