บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 31.01.2024

“พวกเขา [บุคคลข้ามเพศ] เลือกที่จะมาไทยเท่านั้น” ดร.คลารา ตั๊ก เม้ง ซู แพทย์ผู้สนับสนุนรณรงค์การดูแลสุขภาพคนข้ามเพศชาวออสเตรเลีย กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ The Guardian 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบุคคลข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์ในประเทศออสเตรเลียจำนวนมากเบื่อหน่ายกับรายชื่อรอคิวอันยาวเหยียดเพื่อผ่าตัดยืนยันเพศสภาพในบ้านเกิด จึงเลือกซื้อแพ็กเกจการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลไทย และเดินทางมาที่นี่เพื่อปรับเปลี่ยนร่างกายให้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศให้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ทรานส์ชาวไทยเองสามารถเข้าถึงกระบวนการเดียวกันได้อย่างสะดวกหรือไม่ เมื่อการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ติดหนี้ก้อนใหญ่ และไม่ใช่ทุกจังหวัดจะมีโรงพยาบาลที่ให้บริการดูแลสุขภาพเพื่อยืนยันเพศที่เหมาะสม

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพของทรานส์เจนเดอร์ในประเทศไทยคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษา เราอาศัยอยู่ในประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำรายวันไม่เคยเกิน 400 บาท และยังคงมีวิกฤตการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังไม่คลี่คลาย แต่ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศเพียงครั้งเดียว เช่น การผ่าตัดหน้าอก อาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 10,000 ถึง 600,000 บาทขึ้นไป (ในบทสัมภาษณ์กของ Coconuts Bangkok ชายทรานส์เจนเดอร์ชาวไทยคนหนึ่งเปิดเผยว่า การผ่าตัดยืนยันเพศหลายกระบวนการมีค่าใช้จ่ายรวมถึง 1 ล้านบาท) แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดจากโรงพยาบาลรัฐอาจจะค่อนข้างถูกกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนของโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมแปลงเพศและรายชื่อรอคิวที่ยาวเหยียด ทำให้หลายคนต้องหันไปหาทางเลือกการรักษาที่แพงกว่าของโรงพยาบาลเอกชน

แต่ภาระทางการเงินไม่ได้จบลงเพียงแค่การผ่าตัดเท่านั้น การดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์ยังรวมถึงกระบวนการปรับเปลี่ยนเพศระยะยาวที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน (HRT) และการปรับเสียงให้ทุ้มต่ำลงหรือแหลมสูงขึ้น ซึ่งการรักษาเหล่านี้ก็ห่างไกลจากคำว่า “ราคาจับต้องได้” และ “เข้าถึงง่าย” อยู่มากเช่นกัน 

จนถึงปัจจุบัน การจ่ายค่ารักษาเองเป็นวิธีเดียวที่จะจัดการค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์ เนื่องจากการรักษาประเภทนี้ยังไม่อยู่ในความรับผิดชอบของประกันสุขภาพแบบทั่วไป ส่งผลให้เป็นภาระทางการเงินอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ที่ต้องการการดูแลเพื่อเปลี่ยนเพศหรือทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเยาวชนทรานส์ เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจวินิจฉัย เป็นหนึ่งในความกังวลหลักของผู้ปกครองและครอบครัวของเยาวชนทรานส์ทั่วประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เมื่อแบกรับภาระทางการเงินไม่ไหว หลายคนต้องละทิ้งเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเพศ หรือหันไปพึ่งกระบวนการที่ไม่ได้รับการควบคุม เช่น การหาฮอร์โมนมาฉีดเอง หรือการผ่าตัดใต้ดิน แต่สถานการณ์นี้อาจจะเปลี่ยนในอีกไม่ช้า 

เมื่อต้นเดือนธันวาคมปี 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศว่า แพ็คเกจการดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์ จะถูกบรรจุรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์ “บัตรทอง” ซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาขยายขอบเขตความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยคาดว่า แพ็คเกจการดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์จะนำการรักษาที่เคยอยู่นอกเหนือสิทธิประโยชน์เดิมมาบรรจุรวมไว้ด้วย เช่น การเสริม/ลดหน้าอก และการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศ

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ที่ครอบคลุมคนข้ามเพศ เป็นการทำให้บริการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่เอื้อมถึงได้  ซึ่งมีศักยภาพที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางสังคมและเศรษฐกิจตลอดชีวิตของบุคคลทรานส์เจนเดอร์ได้อย่างมาก งานวิจัยปี 2022 จาก Youth LEAD แสดงให้เห็นว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเป็นสิ่งที่เยาวชนทรานส์ ผู้ดูแล และสมาชิกครอบครัวของเยาวชนทรานส์ ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องให้ขยายขอบเขตบริการดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพเบื้องต้นที่คำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับตนเองได้ง่ายขึ้น ปัญหาการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์นั้นรุนแรงมาก บางคนไม่เคยได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เลย และอาศัยเพียงความช่วยเหลือจากชุมชนเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัวการถูกเลือกปฏิบัติในสถานพยาบาล และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดทรัพยากรและช่องทางเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพทรานส์เจนเดอร์ แม้ว่าการเปลี่ยนเพศโดยไม่ผ่านการปรึกษาแพทย์อาจเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่า แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ร้ายแรงและอาจส่งผลกระทบในระยะยาว

นโยบายนี้เป็นตัวอย่างที่จับต้องได้ของสัญญาประชาคมของรัฐบาลในการปกป้องสิทธิในการมีชีวิตของประชาชน เพื่อแบ่งเบาภาระในการดูแลตนเองของชุมชนคนข้ามเพศ  ซึ่งต้องต่อสู้ทุกวันกับความรุนแรงของการเหยียดคนข้ามเพศและการกดขี่ซ้อนทับมากมายอยู่แล้ว

นโยบายนี้เป็นเหมือนเสียงยืนยันแก่นแท้ของนโยบายสาธารณะ มันไม่ได้ให้การ “ช่วยเหลือ” แบบต้องอ้อนวอนรอความเมตตาให้ผู้มีอำนาจประทานให้ ไม่ผูกมัดใครไว้กับตำแหน่งเหยื่อชั่วนิรันดร์ ที่ต้องพิสูจน์ว่าตนเองสมควรได้รับความช่วยเหลือผ่านน้ำตาและความทุกข์ยาก สิ่งที่นโยบายสาธารณะทำคือ เปิดประตูให้ผู้คนได้สัมผัสความเป็นมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิ มันเป็นการประกาศอย่างเงียบสงบแต่หนักแน่นว่า ชีวิตของคนข้ามเพศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นมีความหมาย และอนาคตคือที่ที่ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ที่มา:
Asia Pacific Transgender Network
Bangkok Post
Bio Med Central
Coconuts
Matichon
Springer Link
Thai PBS World
The Coverage 
The Guardian
UNDP 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top