บทความ / การพัฒนาเมือง, นวัตกรรมเชิงนโยบาย, เทคโนโลยี
Published: 17.08.2023

ความร่วมมือระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) และยังมีบทบาทในการต่อรองการแบ่งและจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนลดลงในทุกๆ วัน ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยียังพัฒนารุดหน้าไกล จนต้องอาศัยข้อบังคับระดับนานาชาติมาควบคุม เช่น สหภาพยุโรปร่วมมือกันออกมาตรการกำจัดเนื้อหาออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก (Child Sexual Abuse Materials: CSAM)

สัญญาณเล็กๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นแนวโน้มที่ภาครัฐหันมาจับมือกันเพื่อการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เราในฐานะนักนโยบายสามารถยกระดับความร่วมมือเหล่านี้เพื่อการพัฒนาที่จะส่งต่ออนาคตให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างไร? ทีมยุทธศาสตร์แห่งอนาคตของ UNDP (The UNDP Strategy & Futures Team) ได้จัดประเภทสัญญาณเหล่านี้ภายใต้ประเด็นใหญ่อย่าง  “การยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ดีกว่า” (novel collaboration) โดยสามารถแบ่งเป็น 4 ประเด็นย่อย ดังนี้

1. การออกข้อบังคับควบคุมใหม่ๆ

นอกจากโลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน อุณหภูมิที่สูงขึ้นในหน้าร้อน เรายังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จากโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวของ “เมตาเวิร์ส” รวมถึงการที่เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย

เพื่อชะลอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นานาประเทศเริ่มแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อควบคุมสภาพอากาศ หรือที่เรียกกันว่า Geoengineering หรือ Climate Engineering เช่น การยิงสารเคมีขึ้นไปบนชั้นอากาศ เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ออกจากโลกและลดอุณหภูมิในชั้นอากาศ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้อาจทำให้อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนแปรปรวน จนส่งผลต่อภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เนื่องจากทรัพยากรเริ่มลดลงเรื่อยๆ ทำให้องค์กรขยายข้อบังคับหรือข้อจำกัดเดิม เช่น องค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) อนุญาตให้บริษัทเดอะเมทัลส์ (The Metals Company) ขุดเหมืองเหล็กใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นการขุดเหมืองใต้ทะเลครั้งใหญ่ครั้งแรกที่มหาสมุทรแห่งนี้ และเป็นการดำเนินงานที่จะส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลแน่นอน

นอกเหนือจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การเติบโตของเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ก็ก้าวหน้าไม่แพ้กัน แต่การขยายพรมแดนของโลกเทคโนโลยีถือเป็นดาบสองคม เพราะทำให้ผู้คนเข้าถึงเนื้อหาที่มีความรุนแรงทางเพศด้ง่ายขึ้น และจำนวนไม่น้อยยังเป็นเนื้อหาที่มีความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับเด็กและเยาวชนด้วย

สัญญาณเหล่านี้นอกจากแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ยังสะท้อนให้แนวโน้มการพัฒนของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จนเหนือข้อกำหนดหรือมาตรการควบคุมที่เคยวางไว้ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงการแข่งขันเพื่อครอบครองทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกวันอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ นักนโยบายควรก้าวต่ออย่างไรให้สามารถออกมาตรการควบคุมเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน? เราอาจนำบริบทหรือเงื่อนไขที่แต่ละประเทศต้องเผชิญมาช่วยในกระบวนการตัดสินใจด้วย เช่น กรณีขุดเหมืองใต้มหาสมุทรแปซิฟิกอาจคำนึงถึงการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ หรือเราอาจต้องออกข้อกำหนดใหม่ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เช่น สหภาพยุโรปได้ออกกฎหมาย Digital Services Act (DSA) เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และหามาตรการกำจัดคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาความรุนแรงทางเพศที่เกิดกับเด็กและเยาวชน

2. ความร่วมมือระหว่างประเทศกลายเป็นสิ่งสามัญ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรยังเร่งให้แต่ละประเทศหันมาสร้างความร่วมมือมากขึ้นอีกด้วย เช่น หลังความต้องการของลิเทียมสูงขึ้น เพราะประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ประเทศที่มีกำลังผลิตลิเทียมเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ อาร์เจนตินา ชิลี โบลิเวีย จึงร่วมมือกันควบคุมราคาของลิเทียมไม่ให้พุ่งสูงมากเกินไป นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไม่ได้จำกัดแค่ภาครัฐ เช่น แนวร่วมเพื่อสิทธิของท้องทะเล (Ocean Rights Alliance) ที่เชิญชวนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อเสนอ “ร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิท้องทะเล” ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และยังกำหนดให้สมาชิกแนวร่วมคำนึงถึงการรักษาท้องทะเลในการดำเนินงานอีกด้วย

สัญญาณเล็กๆ เหล่านี้บ่งชี้ว่า การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา กลายเป็นสิ่งสามัญ หรือสิ่งที่ต้องทำเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน หรือแม้กระทั่งเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่ร่อยหรอไปตามกาลเวลา

แม้ความร่วมมือเหล่านี้อาจปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนได้ แต่ก็ยังคงมีหลายประเด็นที่เราต้องคำนึงถึง อาทิเช่น ความร่วมมือเหล่านี้จะส่งผลต่อภาคเอกชนอย่างไรบ้าง ความร่วมมือนี้จะส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีการขุดเหมืองแร่อย่างไร เราสามารถต่อรองและปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง หรือเราสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยเพื่อหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ได้หรือไม่

3. การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หลายประเทศในซีกโลกใต้ (Global South) ต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน แต่ประเทศเหล่านี้กลับไม่ใช่ตัวการหลักในการเร่งการทำลายสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจในซีกโลกเหนือ (Global North) นี่ยังไม่รวมถึงภาวะยากจนที่หลายประเทศในซีกโลกใต้กำลังเผชิญอยู่ด้วย เพื่อแก้ปัญหานี้ เวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 (COP27) ได้ออกข้อตกลงให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับประเทศที่ได้รับผลประทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังมีการรวมกลุ่มของประเทศ V20 หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในทวีปแอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก เพื่อเรียกร้องให้นานาชาติออกมาตรการพักหนี้ และเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไม่เท่าเทียมอีกด้วย ซึ่งได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากนานาชาติ อาทิ กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องและทำข้อเสนอให้ธนาคารโลกให้กลุ่มประเทศนี้กู้ยืมเงินมากขึ้น

สัญญาณเหล่านี้แสดงให้ถึงแนวโน้มที่คล้ายกับประเด็นที่แล้ว กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้แต่ละประเทศต้องหันมาร่วมมือเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน

แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เราต้องตั้งคำถามต่ออีกว่า เราจะสามารถพัฒนาระบบการเงินที่สามารถช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าเทียมได้อย่างไร หรือเราสามารถสร้างระบบการเงินเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

4. การเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลายประเทศเริ่มหันมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหนี้ โดยขอเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนในการดำเนินโครงการเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) ได้ช่วยเหลือเปลี่ยนหนี้กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐของประเทศเซเชลส์ เบลีซ บาร์บาโดส ให้เป็นต้นทุนจำนวน 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับพัฒนาโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือรัฐบาลโคลัมเบียได้เสนอเปลี่ยนหนี้เป็นทุนในการสร้างโครงการอนุรักษ์ป่าอเมซอน และรัฐบาลอาร์เจนตินาก็เสนอเปลี่ยนหนี้เป็นทุนสำหรับดำเนินโครงการเพื่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (green transition)

สัญญาณเล็กๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศที่ต้องแบกรับหนี้สินอันเกิดจากการรับมือกับภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและฉับพลัน และในขณะเดียวกันก็เห็นความพยายามรับมือของประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการปัญหานี้เช่นกัน

จึงสรุปได้ว่าการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุนสำหรับโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติอาจเป็นหนึ่งในมาตรการรับมือกับทั้งภาวะหนี้อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ แม้วิธีการนี้ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก แต่ถ้าหากทำสำเร็จ แนวทางเหล่านี้อาจนำไปต่อยอดกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับ SDG หัวข้ออื่นๆ ได้ด้วย

ที่มา : UNDP Signal Spotlight 2023

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top