บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Written By
Published: 28.03.2024

สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำนโยบายคือการรับฟังผู้อื่น และเมื่อเราพยายามรับฟัง พยายามเข้าใจความหวังและความกลัวของผู้อื่น เราก็จะได้รับรู้ถึงประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย และสิ่งที่เราได้ยินอาจไม่ใช่เรื่องราวที่น่ายินดีนัก โดยเฉพาะเมื่อเราทำงานกับผู้คนที่เผชิญความไม่เป็นธรรมในชีวิต

เราอาจสงสัยว่าทำไหมจู่ๆ ก็รู้สึกหนักอึ้งขึ้นมา กลางวันก็กังวล ตกกลางคืนก็นอนไม่หลับ ทำไมภาพความรุนแรงจากเรื่องราวที่มีคนเล่าให้ฟังถึงแวบขึ้นมา ทำไมเรารู้สึกเครียดและกลับไปหาพฤติกรรมแย่ๆ ที่เราใช้จัดการกับความเครียด ทั้งที่เรื่องเหล่านั้นไม่ได้เกิดกับเรา ทำไมเรื่องราวความไม่เท่าเทียมและแผลใจของผู้อื่นถึงผลักเราตกลงไปในหลุมอันดำมืดของการมีชีวิต และทำให้เราระลึกถึงศักยภาพอันจำกัดของเราในการช่วยใครก็ตาม และในทันใดทุกสิ่งก็กลายเป็นน่าเหนื่อยหน่าย ไร้ความหมายไปจนสิ้น

บาดแผลในใจ (trauma) เป็นสิ่งตกทอด มันสามารถส่งผ่านจากคนผู้หนึ่งไปสู่คนผู้หนึ่ง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดบาดแผลในใจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยตรงก็ตาม และความรู้สึกเช่นนี้ก็ไม่ใช่ ‘ความอ่อนแอส่วนบุคคล’ เมื่อเราได้ยินเรื่องราวความยากลำบากของผู้อื่นและสมองเรารับรู้เรื่องราวเหล่านั้น อารมณ์ที่ตกค้างจากเรื่องราวก็จะไปกระตุ้นสมองของเราให้เกิดความรู้สึกตาม สมองเราทำงานเหมือนกับฟองน้ำที่ซึมซับอารมณ์ตกค้าง จนถึงขั้นที่ทำให้เรารู้สึกถึงประสบการณ์ที่สร้างแผลในใจ ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรารับเอาแผลใจของผู้อื่นเข้ามาเช่นนี้เรียกว่า แผลใจมือสอง  (secondary trauma หรือ vicarious trauma)

 

ความแตกต่างระหว่างแผลใจมือสอง และ ภาวะหมดไฟ

  • ภาวะหมดไฟ — คำทั่วไปที่ใช้อธิบายความเหนื่อยทางใจ ซึ่งสามารถดีขึ้นได้ด้วยวิธีการต่างๆ (เช่น เปลี่ยนงาน หรือลาออกจากงาน)
  • แผลใจมือสอง — จิตใจของเราหมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวที่เป็นบาดแผลใจของผู้อื่น

 

ปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรุนแรงต่อเรื่องราวที่เป็นบาดแผลใจนั้นสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจเราได้ แต่มันไม่ใช่ความผิดของเราเลย และก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจัดการไม่ได้ ดังนั้นในบทความนี้ เราจะพาไปดูวิธีการดูแลหัวใจของคนที่ใส่ใจโลกใบนี้กัน

  1. เริ่มจากการดูแลตัวเอง (self-care)

เราไม่สามารถสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมได้ หากเราไม่ใจดีกับตัวเองก่อน พูดอีกอย่างก็คือ เราจะไม่มีพลังไปดูแลคนอื่น หากเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี เพราะว่าพลังภายในของเรานั้นหมดลงได้

การดูแลตัวเองไม่ใช่แค่การพักอยู่นิ่งๆ แต่มันคือการยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับศักยภาพ ข้อจำกัด เงื่อนไขต่างๆ ในชีวิต ความเปราะบางของเราเอง และวิธีการตอบสนองต่อคนอื่นอย่างดีที่สุด โดยที่ไม่ส่งผลกับตัวเราเอง เช่น 

  • รู้สาเหตุของความเครียดไหม และยอมรับสาเหตุนั้นหรือยัง? 
    • ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้หากไม่ยอมรับว่าปัญหาดำรงอยู่
    • การหมดพลังใจไม่ใช่ความอ่อนแอ มันเป็นปฏิกิริยาปกติต่อสถาพแวดล้อมที่เครียด สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่การแยกส่วนจิตใจหรือเลิกมีความรู้สึก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือสร้างระยะห่างระหว่างตนเองกับสิ่งที่กระตุ้นความเครียด หรือพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่เคร่งเครียด
  • เราลดทอนการรับรู้เรื่องราวที่สร้างบาดแผลทางใจได้อย่างไรในสถานการณ์การทำงานและในชีวิตส่วนตัว? 
    • ใช้เครื่องมือของโซเชียลมีเดียในการซ่อนเนื้อหาที่สร้างความเครียดได้ไหม (เช่น ปิดการเล่นวิดิโออัตโนมัติ)? 
    • พักบ้างได้ไหม?
    • หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องราวที่สร้างบาดแผลทางใจได้ มีสิ่งใดที่ทำได้บ้างเพื่อเตรียมสภาพจิตใจ?
    • แชร์สถานการณ์ให้คนในทีมฟังได้ไหม?
    • องค์กรที่ทำงานอยู่ช่วยดูแลด้านสภาพจิตใจไหม?
  • สามารถสังเกตตนเองได้ไหม ว่าเรื่องราวที่สร้างบาดแผลทางใจส่งผลให้เรารู้สึกอย่างไร? เช่น…
    • หากรู้สึกว่าเราล้มเหลว และคุณค่าในตัวเราลดลง จงจำไว้ว่า ความรับผิดชอบ และ ความพยายามทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นคนละเรื่องกัน เตือนตัวเองว่าเรามีศักยภาพแต่ในขณะเดียวกันก็มีขีดจำกัด เตือนตัวเองว่าชัยชนะมีทั้งแบบยิ่งใหญ่และแบบเล็กๆน้อยๆ นึกถึงความสำเร็จล่าสุดของเราและแรงจูงใจที่ทำให้เรามาอยู่ตรงนี้ สุดท้ายแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ตนเองมากเกินไปไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อตัวเราหรือต่อผู้อื่น การทำเช่นนั้นมีแต่จะทำให้เราเศร้าซึมและบดบังไม่ให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ 
    • หากเรารู้สึกกังวลทั้งวันทั้งคืน ลองนึกถึงกิจกรรมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากงาน ถามตัวเองว่าสิ่งใดช่วยให้เราสบายใจหรือคลายกังวล?
    • หากรู้สึกโดดเดี่ยว ลองไปคุยกับคนที่มีประสบการณ์คล้ายกันได้ไหม? เครือข่ายผู้คนที่ช่วยให้เราเปิดใจได้ เป็นสิ่งจำเป็นมากในการลดทอนความรู้สึกโดดเดี่ยว
    • หากความรู้สึกกระสับกระส่ายรบกวนชีวิตประจำวันของเรา การหาความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ดี เราอาจแสวงหาความช่วยเหลือทางจิตใจ หรือให้องค์กรช่วยปรับการทำงานของเรา

        2. มาดูแลซึ่งกันและกันนะ

การดูแลตนเองเพียงอย่างเดียวจะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีการสนับสนุนจากผู้อื่นหรือโครงสร้างองค์กร การได้รับการดูแลและความอยู่ดีมีสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ดังนั้นเราทุกคนจึงมีความรับผิดชอบในการดูแลกันและกัน

  • ตรวจสอบดูว่าองค์กรที่เราทำงานอยู่มีแนวโน้มคลั่งการทำงานเกินเวลา คลั่งความทุกข์ทนจากการทำงาน และแนวคิดแบบ ‘ผู้เหมาะสมเท่านั้นจึงจะอยู่รอด’ หรือเปล่า วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ (toxic) อาจเฉลิมฉลองความล้มเหลวของการจัดการว่าเป็น ‘สิ่งที่ต้องพบเจอในชีวิตการทำงาน’ หรือ ‘วันปกติธรรมดาวันหนึ่ง’ จงร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานในการต่อต้านวัฒนธรรมเช่นนั้น เพราะอย่างน้อยๆ เราก็สามารถใจดีกับคนรอบข้างได้ Greg Beckett นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดาผู้ทำงานเกี่ยวกับวิกฤตและภัยพิบัติในเฮติอยู่หลายปี เขียนเอาไว้ว่า เขาได้รับความช่วยเหลือที่ต้องการมานาน หลังจากที่ตระหนักว่า หลักการในการทำงานของเขาคือ “แนวคิดที่ว่าการลงพื้นที่คือพิธีกรรมล้างบาปด้วยไฟ ที่ผู้เข้มแข็งที่สุดเท่านั้นจะอยู่รอด”
  • เข้าร่วมกลุ่มที่ดูแลซึ่งกันและกัน Chanel Smith ทนายความครอบครัวคนดำจากอเมริกา เล่าว่า การแลกเปลี่ยนเรื่องราวบาดแผลทางใจมือสองกับทนายความผิวสีด้วยกัน ช่วยให้คลายกังวลและช่วยให้แนวทางในการทำงานกับระบบยุติธรรมอาญาเยาวชน หลังจากที่ George Floyd  ถูกฆาตกรรมในปี ค.ศ. 2020 เธอเปิด “Legal Recess” [พักจากกฎหมาย] เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้คนมาเล่าประสบการณ์ที่สร้างบาดแผลทางใจในสังคมที่เหยียดเชื้อชาติอย่างฝังรากลึก

 

ที่มา

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top