บทสัมภาษณ์ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย, เยาวชน
Published: 03.10.2023

“คนรุ่นใหม่หลายคนมีไอเดียว่าอยากจะแก้ปัญหาอะไร แต่หลายครั้งที่คนรุ่นใหม่ไม่ทราบว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น มันจะต้องเริ่มที่ตรงไหน”

ศมพร มีเกิดมูล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนผ่านประสบการณ์การทำงานเชิงนโยบายในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งจากการเป็นประธานกลุ่มอาสาวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2565 และการเป็นตัวแทนภาคเยาวชนที่ทำงานร่วมกับพรรคการเมืองในการช่วยขับเคลื่อนนโยบาย 

ความคิดนี้นำไปสู่ไอเดียการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มาร่วมออกแบบและเสนอนโยบายผ่านกิจกรรม hackathon รวมถึงให้ความรู้เบื้องต้นในกิจกรรม “Singhadang Policy Maker Camp” ที่จัดในนามกลุ่มอาสาวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์เมื่อปี 2565 ซึ่งได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากทั่วประเทศนำเสนอนโยบายต่อผู้นำจากหลากหลายพรรคในช่วงเลือกตั้ง และเป็นปีแรกที่ UNDP และ Thailand Policy Lab ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมด้วย

เสียงของประชาชนคนรุ่นใหม่ในช่วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่าน

ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ประชาชนรวมถึงคนรุ่นใหม่จำนวนมากออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมต่างๆ มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา คุณศมพรได้เห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่ทำให้เขายิ่งอยากจัดพื้นที่ในการออกแบบนโยบายสำหรับเยาวชนขึ้น

“ข้อเรียกร้องเหล่านั้นส่วนใหญ่ถูกพูดถึงบนถนน ในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ และผู้มีบทบาทและอำนาจในการกำหนดนโยบายไม่ได้ไปรับฟังเท่าไหร่นัก ผมเลยคิดว่านี่อาจเป็นช่องว่าง เพราะไม่มีพื้นที่ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้อง ทำให้ข้อเสนอของพวกเขาไปไม่ถึงผู้กำหนดนโยบาย”

“ผมอยากจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพราะผมอยากทลายค่านิยมบางอย่างของสังคม ที่เชื่อว่าการกำหนดหรือการชี้นำนโยบายสาธารณะ เป็นเรื่องของนักการเมือง เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่การกำหนดนโยบายควรที่จะเป็นเรื่องของประชาชนคนธรรมดาสามัญอย่างพวกเราได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่”

ทลายกรอบเดิม เพิ่มความเห็นเยาวชน ในสมการการออกแบบนโยบาย

คุณศมพรยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าอิทธิพลจากความเชื่อในสังคมไทยที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองหรือเป็นเรื่องในเงามืดนั้น ส่งผลกระทบให้เยาวชนถูกกันออกจากพื้นที่

และทำให้เยาวชนไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เต็มที่มากนัก รวมถึงกรอบสังคมไทยที่ปลูกฝังให้เชื่อตามระเบียบความอาวุโสและคุณวุฒิอย่างเเน่นเเฟ้น ทำให้ข้อเสนอของเยาวชนไม่ได้ถูกนำไปคิดในสมการการผลักดันนโยบาย

การเปิดโอกาสให้เยาวชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบนโยบายของภาครัฐส่วนมากยังมาในรูปแบบการให้ความรู้จากบนลงล่าง (top down) เพียงอย่างเดียว 

“แต่ทั้งนี้ในปี 2566 ด้วยกระแสการเลือกตั้งในคร้ังที่ผ่านมา ผมเห็นกระแสการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจหลายกิจกรรม ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางมากขึ้น เริ่มมีกระบวนการให้เยาวชนเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องได้ชัดขึ้น คงต้องติดตามกันต่อไปหลังจากนี้”

ทำไมมุมมองและการมีส่วนร่วมจากเยาวชนจึงสำคัญกับการออกแบบนโยบาย?

คุณศมพรบอกว่าในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มองข้อเสนอของคนรุ่นใหม่เอง หลาย ๆ มุมมองและข้อเสนอของเยาวชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญในสังคมที่ยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงมากนัก โดยหลายประเด็นเป็นสิ่งที่สังคมอาจยังไม่ทราบถึง ไม่พูดถึง หรือไม่อยากพูดถึง 

“ข้อเสนอของเยาวชนที่สังคมอาจยังไม่คุ้นเค อย่างเรื่อง รัฐสวัสดิการ UBI (สวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า) ระบบยุติธรรม ฯลฯ หลายนโยบาย หลายปัญหาเหมือนเป็น ปัญหาใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องที่หลายคนรู้เเต่ไม่พูดถึง

ผมรู้สึกได้ถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ในข้อเสนอและการกำหนดนโยบายของเยาวชนคนรุ่นใหม่ การที่เขาจะคิดนโยบายขึ้นมา เขาไตร่ตรอง ใคร่ครวญจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมและเขาไม่สามารถทนเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ในสังคมได้ จึงออกมาเป็นข้อเสนอนโยบายที่คนรุ่นใหม่ร่วมกันแชร์”

อนาคตของการมีส่วนร่วมของเยาวชนคือ การรับฟังอย่างแท้จริงและการเตรียมสร้างเลนส์การออกแบบนโยบายให้เยาวชน

คุณศมพรเสนอเพิ่มเติมว่า หากมองผ่านมุมคนที่อยู่ในระบบ ในอนาคตอาจให้มีการจัดสรรตำแหน่งเเห่งที่ของเยาวชนในเเต่ละส่วนของการออกแบบนโยบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การตั้งคณะกรรมการสัดส่วนเยาวชน เป็นต้น เพื่อที่พวกเขาจะสามารถแลกเปลี่ยนกับองค์กรหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบนโยบายได้ ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเองควรมีกระบวนการที่รับฟังและให้น้ำหนักกับข้อเสนอของเยาวชนอย่างจริงจัง

“ในอนาคตอาจสร้างพื้นที่ที่เป็นกิจจะลักษณะในการเปิดรับฟังความเห็นและให้เยาวชนมาเสนอนโยบาย เช่น การจัด policy forum สำหรับเยาวชนในแต่ละไตรมาส ในแต่ละประเด็น โดยภาครัฐ องค์กร หรือบุคคลที่มีส่วนกำหนดนโยบาย สามารถมารับฟังและนำไปปรับใช้ได้”

ในกิจกรรม Singhadaeng Policy Maker Camp เองก็ได้เตรียมพื้นฐานให้เยาวชนในเรื่องการออกแบบนโยบายก่อนเข้ามาทำ workshop จริง โดยทาง Thailand Policy Lab ได้นำเครื่องมือในการออกแบบนโยบายเข้ามาสมทบด้วย

“เครื่องมือที่ Thailand Policy Lab ให้มา ตรงกับจุดประสงค์ของผู้จัดงานที่ว่า คนรุ่นใหม่รู้ว่าอยากแก้ปัญหาใดของสังคม แต่เขาไม่รู้กระบวนการการแก้ไข เครื่องมือเหล่านี้ช่วยเรียบเรียงความคิดของผู้เข้าร่วมได้อย่างเป็นระเบียบและน่าสนใจ และมีวิธีใช้ที่เรียบง่าย เช่น โมเดลถูเขาน้ำแข็ง (iceberg model) ที่ช่วยให้มองเห็นปัญหาอย่างเป็นระบบ และเข้าใจว่าปัญหานั้นๆ มีกระบวนการ และตัวการที่ผลิตซ้ำด้านความคิดในสังคมของเราอย่างไร เป็นเครื่องมือที่ชี้ให้เห็นปัญหาเชิงลึกและเป็นกุญแจที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพว่าเราควรแก้ปัญหาตรงไหน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมได้ในอนาคต เครื่องมือจาก Thailand Policy Lab เข้ามาอุดช่องว่างปัญหาเหล่านี้และช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีแว่นตาและเลนส์ในการออกแบบนโยบายที่ชัดขึ้น” 

เมื่อเยาวชนมีเลนส์ในการออกแบบนโยบายและสามารถมองเห็นปัญหาได้อย่างเป็นระบบ บวกกับการที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดพื้นที่และมอบโอกาสให้เยาวชนเสนอความเห็นในฐานะที่พวกเขาเองก็เป็น “ประชาชน” ของสังคม อนาคตของการออกแบบนโยบายก็จะมาจากเสียงของ “ประชาชน” อย่างแท้จริงมากขึ้น

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top