บทความ / การพัฒนาเมือง
Published: 19.01.2024

ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยลากยาวมานานหลายปี และดูจะเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ

ฝุ่นที่รุนแรงส่งผลให้เราไม่สามารถออกกำลังในที่สาธารณะ หรือการหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในร่างกายก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด หรือแม้แต่ต่อสมอง ยังไม่นับกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งที่ต้องหยุดชะงักเพราะฝุ่น หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำในการป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ คนกลุ่มไหนบ้างที่มีเงินพอที่จะซื้อเครื่องกรองอากาศ หรือแม้แต่หน้ากากใส่กันฝุ่น?

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาที่เราต่างก็อยากให้ผู้มีอำนาจรัฐ นักนโยบาย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแก้ไขให้ได้ทันทีทันควัน แต่ความเป็นจริงไม่มีอะไรง่ายดายขนาดนั้น เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหา “ซับซ้อนซ่อนเงื่อน” (wicked problem) นั่นก็คือปัญหาที่ไม่สามารถจำกัดความต้นตอได้แน่ชัด ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนว่าจะแก้ได้อย่างไร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง หรือแม้แต่เป็นปัญหาที่บางครั้งก็เป็น ‘อาการ’ ของปัญหาอื่น เช่นนี้เป็นลักษณะของปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ทั้งสิ้น

ฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนอย่างไร? ลองคิดตามดูก่อนว่า ปัญหานี้เกิดจากอะไรกันแน่ 1) ควันรถ 2) การก่อสร้าง 3) โรงงานอุตสาหกรรม 4) ไฟป่า 5) การเผาทางการเกษตร คำตอบก็คือทุกข้อล้วนเป็นตัวแปรที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษทั้งสิ้น เมื่อต้นตอมีหลายสาเหตุ คำถามต่อมาก็คือ เราควรเริ่มแก้ปัญหาจากสิ่งใดก่อน แล้วจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร? คำตอบง่ายๆ ก็คงเป็นการเริ่มจากสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดฝุ่นพิษอย่างรุนแรงที่สุด 

แต่ความเป็นจริงอาจไม่ง่ายดายเช่นนั้น เพราะฝุ่นพิษเกิดจากหลายปัจจัยทับซ้อนกัน มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแยกสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งออกจากกัน และการแก้ปัญหาก็อาจเริ่มได้จากหลายวิธี เช่น ลดการเผาทางการเกษตรด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มราคาผลิตผลทางการเกษตรโดยไม่ต้องเผา ลงโทษโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันเสียเกินมาตรฐาน หาแรงจูงใจให้เอกชนหันมาใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น และนี่คือเหตุผลที่ปัญหาฝุ่นพิษเป็นปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน (wicked problem) 

ดังนั้นนักนโยบายและผู้มีอำนาจที่พยายามแก้ปัญหานี้ ก็ควรมองปัญหาผ่านมุมมอง wicked problem เพื่อไม่ให้เผลอไผลใช้วิธีที่ ‘ง่ายเกินไป’ ในการแก้ปัญหา มองเห็นความซับซ้อนของปัญหา และความซับซ้อนของทางแก้

ยิ่งปัญหามีความซับซ้อน นักนโยบายยิ่งควรคิดอย่างเป็นระบบ ขั้นตอนแรกของการเริ่มต้นจัดการฝุ่นพิษ PM 2.5 อาจเป็นการจัดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้มองเห็นภาพรวมว่าใครเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ใครคือผู้ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ หรือใครเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบดูแลในส่วนใด ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล (2020) ได้แบ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นฝุ่นพิษไว้ดังนี้

  • ผู้ได้รับผลกระทบ – ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ บุคคลทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  • ผู้ก่อฝุ่นควัน – กลุ่มคนที่ทำกิจกรรมอันส่งผลต่อฝุ่นพิษ ไม่ว่าจะเป็นขนส่ง การเผาเพื่อการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม หรือการผลิตพลังงาน
  • ผู้ควบคุมแก้ไขและผู้กำกับดูแลกฎหมาย – เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอำนาจในการกำกับควบคุมการปล่อยฝุ่นควัน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ หรือศาล
  • ผู้สร้างแรงจูงใจ – ผู้มีอำนาจรัฐที่สามารถกำหนดแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ปล่อยฝุ่นควันน้อยลง เช่น การลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด
  • นักวิจัย – ผู้ที่คอยอัพเดตข้อมูลและแสวงหาข้อเท็จจริงใหม่ๆ เกี่ยวกับการปล่อยฝุ่นควัน และหนทางในการสร้างอากาศสะอาด
  • นักนโยบาย – ผู้ที่คอยประสานระหว่างองค์กรรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อเสนอแนะไปแปรเป็นนโยบายที่แก้ไขปัญหาได้จริง
  • สาธารณะ – บุคคลทั่วไปในสังคม ซึ่งต่างก็มีส่วนในการลดการปล่อยฝุ่นควันและสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องอากาศสะอาดได้

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมายในประเด็น PM2.5 การจะแก้ปัญหาให้ได้ นักนโยบายและผู้มีอำนาจต้องเข้าหาบุคคลหลายกลุ่ม คิดอย่างเป็นระบบและละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการแก้ปัญหานั้นยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงการอุดรอยรั่วหนึ่งเพื่อไปรั่วอีกที่หนึ่ง 

สุดท้ายแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน การแก้ปัญหาไม่ใช่สิ่งที่เกินฝัน แต่เราอาจต้องตื่นมามองโลกของความเป็นจริง ยอมรับความซับซ้อนของปัญหา และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อความยั่งยืน 

ที่มา :
CIEEM
Department of Environmental Engineering, Chulalongkorn University

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top