Published: 26.08.2022

สำหรับอินโทรเวิร์ต เสียงดังๆ ความวุ่นวาย และปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าคือสูตรสำเร็จที่ทำให้อยากวิ่งหนีไปจากตรงนั้น การเป็นจุดสนใจเองก็ทำให้ตกใจประหม่าจนเครียดไปทั้งวันได้ และไม่ใช่ทุกคำถามทำให้คนอยากตอบ โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว แล้วอย่างนั้นเราควรทำอย่างไร จัดกิจกรรมแบบไหนให้โอบรับคนที่ไม่ชอบทำกิจกรรม หรือไม่ได้เป็นนักเข้าสังคมล่ะ ลองอ่านบทความนี้ แล้วเอาไปใช้ได้เลย

อย่าทำสิ่งต่อไปนี้ #1: ถามคำถามปลายปิดที่เฉพาะเจาะจงเกินไป เช่น “ชอบหนังเรื่องไหนจากยุค…?”

ทำสิ่งนี้แทน #1: ตั้งคำถามปลายเปิด สร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมา เช่น “ถ้าชนะล็อตเตอรี่ขึ้นมา จะทำอย่างไรต่อ?” หรือ “ถ้าให้เลือกพลังวิเศษมาหนึ่งอย่าง จะเลือกอะไร?”

Lizzie Cass-Maran ที่ปรึกษาด้าน content accessibility ให้เหตุผลว่า คำถามปลายปิดจะไปกีดกันคนที่ไม่มีประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น คนที่ไม่เคยดูหนังจากยุคที่ถูกหยิบยกมาพูด คนที่ดูหนังในภาษาอื่นๆ ไม่ใช่ภาษาหลักในการสนทนา หรือคนที่ไม่มีหนังในดวงใจเลย

Barbara Sedlack ผู้จัดการจาก BMO Financial Group ได้ให้ตัวอย่างของคำถามปลายเปิดสำหรับอินโทรเวิร์ต ดังนี้

  • ภาพอะไรอธิบายเช้านี้ของคุณ?
  • คำแนะนำที่ดีที่สุดที่เคยได้ยิน คืออะไร?
  • สมมติว่าคุณกำลังจะล่องเรือไปทั่วโลกจะตั้งชื่อเรือว่าอะไร?
  • ชอบกินอะไรเป็นอาหารเช้า?
  • วาดรูปสัตว์ในตำนานที่ชอบหน่อย

อย่าทำสิ่งต่อไปนี้ #2: ขอให้คนเคลื่อนไหวไปมา เช่น กระโดดโลดเต้น 

ทำสิ่งนี้แทน #2

  • ไม่จัดกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวตัว
  • หากจำเป็นต้องจัดกิจกรรมที่ขยับร่างกาย ควรกันพื้นที่ให้คนลุกออกไปพักได้ เปิดโอกาสให้คนเอาสิ่งช่วยเหลือการเคลื่อนไหวเข้ามาได้ เช่น เครื่องช่วยผู้พิการ สัตว์นำทาง 

เราทุกคนมีร่างกายที่ต่างกันไป นั่นหมายควายว่าสุขภาพของเราย่อมไม่เหมือนกัน การทำกิจกรรมที่ใช้แรงอาจเป็นการปลดปล่อยพลังงาน ทำให้คนรู้สึกกระตือรือร้น แต่ไม่ใช่ทุกคนจะกระโดด ก้มตัว ย่อเข่า วิ่งเหยาะๆ หรือเดินเร็วๆ ได้สะดวก บางคนอาจสายตาไม่ดี โสตประสาทตื่นตัวไม่อาจรับเสียงดังๆ ได้ การจัดกิจกรรมที่เน้นการส่งเสียงและเคลื่อนไหวจึงอาจบีบให้คนใช้ร่างกายเกินขีดจำกัดตัวเอง

กระบวนกรต้องรู้จักใช้ดุลพินิจ ดูว่ากิจกรรมต่างๆ เหมาะกับคนทุกกลุ่มไหม ความต้องการเฉพาะของแต่ละคนเป็นอย่างไร นอกจากนี้เอง ไม่ได้มีแต่กิจกรรมขยับร่างกายเท่านั้นที่ต้องนำมาทบทวนใหม่ วิธีเชิญชวนให้คนแสดงออกก็เช่นกัน เนื่องจากบางคนถนัดใช้ถ้อยคำถ่ายทอดความคิด บางคนชินกับการวาดภาพอธิบาย บางคนใช้อวัจนภาษา สื่อสารผ่านท่วงท่า หากกำหนดวิธีการตอบตายตัว ต้องอาศัยทักษะใดเป็นพิเศษ เราอาจไปรบกวนกระบวนการคิดของแต่ละคนได้ “ในเวิร์คช็อปสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งแสดงออกว่า หงุดหงิดกับกิจกรรมวาดรูปแสดงความคิดเห็น และโพล่งออกมาว่า “ฉันคิดเป็นคำพูดนะ ถ้าอย่างนี้คงต้องเต้นให้คนตีความท่าเอาแล้ว” นักออกแบบคอนเทนท์ที่ฉันทำงานด้วยก็มีปัญหากับกิจกรรมประเภทนี้เหมือนกัน” ผู้ใช้งานที่ชื่อ “วิกกี้” แสดงความคิดเห็นลงในบล็อกของ Policy Lab

ฉะนั้นแล้ว นอกเหนือจาก “ทำกิจกรรมอะไรดี?” อีกคำถามที่กระบวนการต้องคิดอยู่เสมอคือ “เรารู้จักผู้เข้าร่วมดีหรือยัง?” และ “เราสร้างพื้นที่ที่โอบรับทุกคน ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะหรือยัง?”

อย่าทำสิ่งต่อไปนี้ #3: ขอให้ผู้เข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวหรืออดีตของตัวเอง เช่น “อวดรูปตอนเด็กๆ กันหน่อย” “มีแฟนหรือยัง เป็นเพศอะไร?” “เล่าเรื่องครอบครัวให้ฟังหน่อย” 

ทำสิ่งนี้แทน #3: ตั้งคำถามที่ให้ผู้เข้าร่วมแสดงตัวตนของตัวเองได้ โดยไม่แตะเรื่องส่วนตัว เช่น 

  • “ถ้าให้เลือกของบนโต๊ะหนึ่งอย่างมาอธิบายแรงผลักดันในการทำงานของเรา จะใช้อะไร?” 
  • “สำหรับคุณ ของชิ้นไหนเป็นตัวแทนของการแก้ปัญหาให้ลุล่วง?”
  • “ถ้าให้เลือกมาหนึ่งคน จะเลือกบุคคลในประวัติศาสตร์คนไหนมานั่งกินเค้กและจิบชาด้วย? ถ้าไม่อยากใช้เวลากับคนที่มีชื่อเสียง จะเลือกใคร?”

การถามโต้งๆ เกี่ยวกับประวัติชีวิต อาจจะเป็นวิธีรู้จักใครที่ตรงไปตรงมาที่สุด แต่นั่นก็เป็นหนึ่งในคำถามที่ละลาบละล้วงที่สุดเช่นกัน มีหลายคนตั้งใจรักษาสมดุลระหว่างโลกส่วนตัว-โลกการทำงาน ไม่เอาสองสิ่งมาปะปนกัน ประวัติชีวิตเองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากเราโยนคำถามแบบนี้ให้ใครตอบ มันอาจไปเปิดแผลในใจของคนๆ นั้น หรือบีบให้เขาเผยเรื่องราวที่ซ่อนไว้ กิจกรรม icebreaker จะกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ทำให้คนรู้สึกอึดอัดจากการเป็นจุดสนใจ หรือรู้สึกอับอายและเปราะบางได้

อย่าทำสิ่งต่อไปนี้ #4: โยนคำถามให้ปัจเจกบุคคลตอบ ต่อหน้าวงกลุ่มใหญ่ๆ 

ทำสิ่งนี้แทน #4: แบ่งคนหมู่มากออกเป็นวงกิจกรรมเล็กๆ ให้ผู้เข้าร่วมได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่ตัวเองรู้จักก่อน 

การทำกิจกรรมต่อหน้าที่ประชุมหรือคนแปลกหน้าจำนวนมาก อาจเป็นเรื่องสนุกสำหรับบางคน แต่มันก็ทำให้หลายคนรู้สึกกระอักกระอ่วนเช่นกัน ในกรณีของคนที่มีโรควิตกกังวล อาการของโรคอาจแย่ลง จนส่งผลกระทบไปทั้งวันได้   ด้วยเหตุนี้ กระบวนกรควรแบ่งคนออกเป็นกลุ่มย่อย และสนับสนุนให้คนในวงเล็กเข้าหากันตามธรรมชาติ วิธีนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้คนตกเป็นเป้าสายตาได้

อย่างไรก็ตาม กระบวนกรไม่ควรบังคับให้ใครเข้าร่วมกิจกรรม สิ่งที่ทำได้คือ สร้างบรรยากาศเชื้อเชิญให้คนเข้าร่วม และเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน 


อ้างอิง

Cass-Maran, L. (2021, August 9). Inclusive icebreakers. https://www.lizziecassmaran.com/inclusive-icebreakers/

Chari, V. (2017, December 5). Designing workshops for everyone – Policy Lab. Policy Lab. https://openpolicy.blog.gov.uk/2017/12/05/designing-workshops-for-everyone/

Hebert, M. (2022, July 14). Dear Workplaces, Churches, and Schools, PLEASE Stop Doing Icebreakers. Signed, Introverts. Introvert, Dear. https://introvertdear.com/news/icebreakers-introverts-anxious-people/

Sedlack, B. (n.d.). Barbara Sedlack’s Icebreakers for Introverts template | Miroverse. Miro.com. Retrieved August 3, 2022, from https://miro.com/miroverse/icebreakers-for-introverts/Team Bonding. (n.d.). I Hate Team Building – Icebreaker Games for Introverts and Sceptics – Teambonding. Team Bonding. Retrieved August 3, 2022, from https://teambonding.com.au/i-hate-team-building-icebreaker-games-for-introverts-and-sceptics/

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top