บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 01.02.2024

ข่าวดี! นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก 9 ข้อ (planetary boundaries) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนด ‘ขอบเขตที่ปลอดภัย’ ว่ากิจกรรมของมนุษย์สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศของโลกได้มากเพียงใด ก่อนที่จะคุกคามความสามารถในการฟื้นตัวของโลกจนไม่สามารถกอบกู้ได้ โดยขีดจำกัดทั้ง 9 นี้ข้อนี้ถูกกำหนดขึ้นสำหรับด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  •   การสูญเสียความสมบูรณ์ของชีวมณฑล ซึ่งครอบคลุมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม อัตราการสูญพันธุ์ และความเข้มข้นของการผลิตขั้นต้น
  •   การใช้น้ำจืด ความชื้นในดิน และปริมาณแหล่งน้ำจืด (น้ำผิวดินและน้ำใต้ดินสำหรับใช้ในครัวเรือน) และน้ำสีเขียว (น้ำสำหรับพืช)
  •   การใช้ที่ดินและอัตราการสูญเสียป่าไม้
  •   มลพิษทางสารอาหาร (จากไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปุ๋ยสังเคราะห์)
  •   ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและระดับการดูดซับรังสี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  •   ปริมาณสารเคมีใหม่ (ที่มนุษย์สังเคราะห์) ที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
  •   การทำลายโอโซน
  •   มลพิษจากละอองลอย
  •   ปรากฏการณ์ทะเลกรด

กรอบแนวคิดขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก

ข่าวร้ายก็คือ มนุษยชาติได้ละเมิดขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกไปแล้ว 6 จาก 9 ข้อ ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและพลังงานการแผ่รังสีบนพื้นผิวโลกเกินขีดจำกัดมานานแล้ว อัตราการสูญพันธุ์ที่มนุษย์เป็นต้นเหตุสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 100 เท่า ระบบนิเวศกำลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่งและเขตมรณะในมหาสมุทรที่เกิดจากของเสียทางชีวธรณีเคมี ความชื้นในดินที่หล่อเลี้ยงทั้งผืนป่าอเมซอนกำลังหายไป ป่าไม้เขตร้อนและป่าเขตเหนือเหลืออยู่เพียง 60% ในขณะที่ควรจะมีอย่างน้อย 75% และทุกครั้งที่เราหายใจ อนุภาคนาโนจากสารเคมีพิษจะถูกดูดซึมเข้าสู่สมองของเรา

แม้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้อาจจะไม่ได้นำไปสู่จุดจบของโลกอย่างฉับพลัน แต่ก็หมายความว่าเราได้ก้าวเข้าไปสู่ดินแดนอันตรายหลายแห่งแล้ว และเข้าใกล้การล่มสลายของระบบนิเวศมากขึ้นอย่างน้อยหนึ่งก้าว

ถึงแม้เมฆฝุ่นมืดมัวที่เกิดจากมลพิษทางอากาศจะหนาทึบ แต่ก็ยังมีแสงสว่างอยู่รำไร อย่างน้อยการทำลายโอโซน มลพิษจากละอองลอย และภาวะทะเลกรดยังคงอยู่ใน ‘โซนสีเขียว’ แม้ระดับความเป็นกรดของมหาสมุทรและมลพิษทางอากาศจากละอองลอยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ชั้นโอโซนก็มีสัญญาณของการฟื้นตัว และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าช่องโหว่ในชั้นโอโซนอาจเริ่มปิดลงได้เร็วที่สุดในปี 2045 การที่โลกกำลังก้าวไปในทิศทางนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปาฏิหาริย์ แต่เป็นผลของการตัดสินใจเชิงนโยบายที่พาเรามาถึงจุดนี้ได้ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายสาธารณะที่จะพาเราออกจาก ‘โซนสีแดง’ ได้

รู้จักพิธีสารมอนทรีออล – อนุสรณ์แห่งความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปกป้องชีวมณฑลผ่านนโยบายระดับโลก

เหตุผลที่เรามีความก้าวหน้าอย่างมั่นคงในการฟื้นฟูชั้นโอโซนนั้นมาจาก พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทําลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1989 สนธิสัญญานี้เป็นตัวแทนของความเห็นพ้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ของประชาคมโลกในการแบนสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซนเกือบ 100 ชนิด โดยเฉพาะสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) มีประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 197 ประเทศเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญานี้ และสารเคมีที่ถูกขึ้นบัญชีดำไปแล้วกว่า 99% ได้ถูกยกเลิกการผลิตอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา

จุดเริ่มต้นของพิธีสารมอนทรีออลย้อนกลับไปในทศวรรษ 1970 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารเคมีจากอุตสาหกรรมทำให้ช่องโหว่โอโซนขยายใหญ่ขึ้น ชั้นโอโซนนี้ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก หากไม่มีเกราะป้องกันนี้ โลกจะถูกโจมตีโดยรังสีอัลตราไวโอเลตโดยตรง คาดการณ์ว่าในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังจะพุ่งสูงถึง 280 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งผิวหนังอย่างน้อย 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 25% ส่งผลให้ระบบภูมิอากาศเสื่อมโทรมอุณหภูมิของโลกก็จะเพิ่มขึ้น 25% เช่นกัน ทำให้ระบบภูมิอากาศเสื่อมโทรมจนสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่อาจอาศัยอยู่ได้

ถึงแม้ผลกระทบจากการทำลายโอโซนจะเป็นที่ประจักษ์ แต่เส้นทางการออกกฎหมายห้ามสารเคมีอันตรายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์พยายามที่จะล็อบบี้ต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลต่อสาร CFCs โดยอ้างว่าข้อค้นพบของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำลายโอโซน สารอันตราย และความกังวลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น “ไร้หลักฐาน” ตลอดจนอ้างถึงผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการยกเลิกสารเคมีต่างๆ

ท่ามกลางกระแสต่อต้านและโจมตีอย่างต่อเนื่องจากภาคธุรกิจ พิธีสารมอนทรีออลก็ได้รับการลงนามจากทุกประเทศทั่วโลก แม้กระทั่งนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังตระหนักถึงคุณค่าของนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ อย่างรัฐบาลของประธานาธิบดีเรแกนเอง มองว่าสนธิสัญญานี้เป็นเหมือน “กรมธรรม์ประกันภัย” ที่จะปกป้องโลกได้ในกรณีที่คำทำนายของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดกลายเป็นจริง พิธีสารมอนทรีออลไม่เพียงประสบความสำเร็จในการยกเลิกสารเคมีทำลายชั้นโอโซนเกือบทั้งหมดภายใน 7 ปีเท่านั้น แต่ยังทำให้อุตสาหกรรมเคมีและนักวิทยาศาสตร์ร่วมกันพัฒนาสารทดแทนสารเคมีที่ถูกแบน ส่งผลให้เกิดตลาดใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และผลักดันทุกฝ่ายให้ สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน

ต่อไปนี้เป็นบทเรียนที่ดึงมาจากความสำเร็จของพิธีสารมอนทรีออล:

  1. เรายังพอมีโอกาสก้าวถอยหลังกลับจากโซนอันตรายได้ หากมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่และจริงใจที่จะทำเช่นนั้น พิธีสารมอนทรีออลพิสูจน์ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งใหญ่ไม่ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเคมีตกอยู่ในความวุ่นวาย ตรงกันข้าม มันกลับขยายขอบเขตจินตนาการทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของเรา เกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำและสิ่งที่สามารถทำได้
  2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสมบูรณ์ของชีวมณฑลส่งผลกระทบต่อทุกฝ่ายไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองอยู่ฝั่งไหน พิธีสารมอนทรีออลเองก็มีผู้นำเป็นสายอนุรักษ์นิยมที่แข็งแกร่ง เช่น มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ และโรนัลด์ เรแกน ซึ่งมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จากการพึ่งพาสาร CFCs
  3. ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ เสมอ สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของข้อค้นพบเรื่องการทำลายโอโซนของนักวิทยาศาสตร์ชั้นบรรยากาศก็คือ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อวิถีชีวิตของเรา การฟื้นตัวของโอโซนที่ล่าช้าอาจนำไปสู่หายนะด้านสาธารณสุขอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  4. ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘คุณค่า’ ที่มุ่งเน้นแต่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พิธีสารมอนทรีออลเป็นการยืนยันว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่า และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไม่ควรมาพร้อมกับการตายก่อนวัยอันควรจำนวนมาก การเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน หมายถึงการมองให้ไกลกว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

ที่มา:
CBC https://shorturl.at/inDK0
Greenpeace Position Paper https://shorturl.at/aktHP
National Geographic https://shorturl.at/bgkE7
Science https://shorturl.at/aknD6
Scientific American https://shorturl.at/qKZ28
Stockholm Resilience Center https://rb.gy/wl3bh3

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top