บทความ / การพัฒนาเมือง, เทคโนโลยี
Published: 11.08.2023

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 คนทั้งโลกได้ทำความรู้จักกับ “ความไม่แน่นอน” มากมาย  เราได้เรียนรู้ว่าวิถีชีวิตประจำวันสามารถพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งเกิดจากเศรษฐกิจที่พลิกผัน และวิถีชีวิตมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้วิกฤติโรคคระบาดเป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของความไม่แน่นอน เพราะความไม่แน่นอนในโลกปัจจุบันนั้นมีอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ภัยสงคราม หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจมาแทนที่การงานของเรา

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ผู้นำหรือนักนโยบายอาจรู้สึกหวาดหวั่น ไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความพร้อมมากพอแค่ไหนในการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในโลกที่ระบบคอมพิวเตอร์มีความสามารถเพิ่มขึ้นกว่าล้านล้านเท่า ในขณะที่ศักยภาพของสมองมนุษย์ยังคงเดิม

เพื่อป้องกันไม่ให้เราขาด “สติปัญญา” และ “พละกำลัง” ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาใหม่ๆ Thailand Policy Lab จึงอยากแนะนำยุทธศาสตร์ 6 ข้อ ที่จะช่วยให้เราเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและความแน่นอน

1) โอบกอดความไม่รู้

เรามักสบายใจกับสถานการณ์ที่เรา “รู้ดี” ว่าต้องปฏิบัติตัวและตัดสินใจอย่างไร ในขณะเดียวกัน เรามักตื่นกลัวเมื่อเรา “ไม่รู้” สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคืิอ เมื่อเราเผชิญกับสิ่งที่เราไม่รู้ สมองมักมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นภัยคุกคาม เราจึงรู้สึกไม่สบายใจภายใต้สถานการณ์ที่มาพร้อมกับสิ่งที่เราไม่เคยพบเจอ หรือไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน 

อย่างไรก็ตาม หากเราอยากเดินหน้าอย่างมั่นคงในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ เราต้องพยายามเปลี่ยนทัศนคติจาก “ต้องรู้ทุกอย่าง” (know it all) มาเป็น “ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง” (learn it all) แทนที่จะมองว่าการรู้ทุกอย่างเป็นสิ่งปกติ เราต้องเปลี่ยนทัศนคติมาเป็นว่า การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการที่เราไม่รู้อะไรบางอย่างจึงเป็นสิ่งปกติ และเราต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เช่นเดียวกันกับการรังสรรค์นโยบาย หากเราไม่รู้ เราจำเป็นต้องโอบกอดความไม่รู้ และเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อออกแบบนโยบายที่ดีกว่าเดิม

2) แยกระหว่าง “ความยุ่งยาก” กับ “ความซับซ้อน”

หลายสิ่งในชีวิตเป็นเรื่อง “ยุ่งยาก” และ “ซับซ้อน” ทว่าเรามักใช้สองคำนี้สลับกัน แต่ความจริงแล้ว ความหมายของมันไม่เหมือนกันสักทีเดียว ตัวอย่างของ “สิ่งที่ยุ่งยาก” (complicated) อาจหมายถึงการกรอกเอกสารเสียภาษี ซึ่งต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ความรู้เชิงเทคนิค หรืออาศัยที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วย แม้สิ่งนี้จะยุ่งยากแต่ถ้าเราอาศัยความละเอียด ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เราก็จะหาทางออกได้

ในทางตรงกันข้าม “สิ่งที่ซับซ้อน” (complex) คือการปะทะกันของหลายปรากฏการณ์ ที่เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะโลกร้อน หากเราต้องการออกนโยบายมาแก้ไขปัญหานี้ เราต้องมองปรากฏการณ์นี้จากหลายมุมมอง ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ปัญหาที่ซับซ้อนเช่นนี้ต้องอาศัยการลองผิดลองถูก แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องอาศัยความมุ่งมั่น ความอ่อนน้อม และการลงมือทำ การเรียนรู้ และการปรับปรุง

3) อย่ายึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ความไม่แน่นอน และบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะคาดหวังความสมบูรณ์ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ ในทางกลับกัน เราควรคาดหวังความก้าวหน้า ความผิดพลาด และพึงระลึกไว้ว่าเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดได้เสมอ 

ผู้นำหรือนักนโยบายมักคาดหวังความสมบูรณ์แบบ หรือกลัวว่าหากทำผิดพลาดไปจะดูแย่ แต่หากเราสามารถปล่อยวางความสมบูรณ์แบบลง เมื่อเราต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากและตัดสินใจผิดพลาดไป เราจะพร้อมแก้ไขและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว

4) มองสิ่งที่ยากว่าเป็นเรื่องยาก

หลายๆ ครั้ง ผู้นำหรือนักนโยบายมักมองว่าปัญหายุ่งยากซับซ้อนไม่ใช่เรื่องซับซ้อน ทางแก้หรือนโยบายที่ออกมาจึงไม่ได้แก้ปัญหานั้นๆ ได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการอยู่กับความเป็นจริงและยอมรับว่า “สิ่งที่ดูเป็นเรื่องซับซ้อนคือเรื่องยาก” การมองเช่นนี้จะทำให้เราไม่ลดทอนความซับซ้อนของปัญหา ทำให้เราวิเคราะห์ปัญหาหรือความไม่แน่นอนได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น ทางแก้หรือนโยบายที่ออกแบบมาจึงจะตรงจุดกว่าเดิม

5) อย่าหัวเดียวกระเทียมลีบ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและสถานการณ์ที่ยากลำบาก การเดินไปคนเดียวเป็นสิ่งที่ยากเย็น เช่นเดียวกับการออกนโยบายภายใต้สถานการณ์ที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน หากเราทำทุกอย่างคนเดียว อาศัยความรู้และประสบการณ์ของตัวเราคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียว เราก็จะไม่สามารถออกแบบนโยบายหรือทางแก้ที่ตรงจุดและครอบคลุมคนหลากหลายกลุ่มได้ ดังนั้นการทำงานเป็นทีม การพูดคุยกับกลุ่มคนที่หลากหลาย จะทำให้เราได้มุมมองจากหลายด้าน อีกทั้งยังช่วยเป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกัน ทั้งยังเป็นสิ่งเตือนใจว่าเรามีเพื่อนร่วมทาง และเราไม่ได้กำลังเผชิญความท้าทายนี้อยู่คนเดียว

6) มองจากระยะไกล

เมื่อเราเผชิญกับความไม่แน่นอน และพยายามแก้ปัญหาอย่างตั้งใจ บางครั้งเรามักหมกมุ่นกับสิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งถือเป็นความตั้งใจดี แต่การโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไปก็อาจทำให้เรามองเห็นเฉพาะมุมเดิมๆ ของปัญหา ฉะนั้นแล้วเราต้องรู้จักผ่อนคลาย และหยุดพักกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าบ้าง เราจึงจะมีมุมมองใหม่ๆ และอาจคิดทางแก้ที่ดีกว่าเดิมได้

ที่มา: UNDP Signal Spotlight 2023 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top