บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 21.11.2023

โลกในศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วย “ปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อน” (Wicked Problems) ซึ่งหมายถึงความท้าทายที่หลากหลายและซับซ้อน อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความท้าทายเหล่านี้ไม่ได้เกิดหรือพัฒนาขึ้นอย่างโดดเดี่ยว หากแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนของระบบทุนนิยมโลกที่ผลิตและบริโภคอย่างทำลายล้างนั้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อประเทศกำลังพัฒนา ภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์เท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การพลัดถิ่นฐานอันเป็นเหตุจากภัยพิบัติ ความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัยย่ำแย่ลง และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนจำนวนมากมายที่กำลังคุกคามสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของโลก

ปัญหาที่ซับซ้อนนั้นต้องการวิธีแก้ไขมากกว่าคำตอบแบบเดิมๆ เพียงคำตอบเดียว ปัจจุบัน รัฐบาลหลายแห่งหันมาใช้ระบบนวัตกรรมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่สดใหม่กว่า จึงเป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง นวัตกรรมที่มุ่งเน้นพันธกิจ หรือ “mission-oriented innovation” (MOI). 

นวัตกรรมที่มุ่งเน้นพันธกิจ (MOI) เป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ไปไกลกว่าการเรียกร้องให้สนับสนุนโครงการริเริ่มนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว MOI ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่ยากจะแก้ไข โดยใช้วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนหรือ “พันธกิจ” พันธกิจซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความท้าทาย ประกอบด้วยชุดของโครงการและมาตรการทางนโยบายและกฎระเบียบ ที่มุ่งแก้ไข grand challenge หรือความท้าทายใหญ่  มีการจัดสรรเงินทุนให้กับโครงการที่หลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสในการแก้ปัญหาให้สำเร็จ นอกเหนือไปจากการแทรกแซงที่หลากหลายแล้ว MOI  ยังอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายอีกด้วย วัฏจักรนวัตกรรม ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา (R&D) ไปจนถึงการติดตามและประเมินผล ต้องอาศัยความพยายามร่วมกันจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคม 

นวัตกรรมที่มุ่งเน้นพันธกิจจะดำเนินการได้ จำเป็นต้องมี  3 เสาหลัก ได้แก่ 1) ความเป็นผู้ประกอบการเชิงสถาบัน 2) การจัดหาเงินทุน และ 3) การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ

ความเป็นผู้ประกอบการเชิงสถาบัน

ความเป็นผู้ประกอบการเชิงสถาบัน (Institutional Entrepreneurship) หมายถึงกลไกเชิงสถาบันที่สนับสนุนระบบนวัตกรรม ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการทดลอง อาจเป็นห้องปฏิบัติการนโยบายหรือหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลการเติบโตของนวัตกรรม เช่น ในประเทศสวีเดน มีหน่วยงานนวัตกรรมชื่อ “Vinnova” ที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนผ่านระบบนวัตกรรมในประเทศ 

Vinnova มีบทบาทสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ ผู้ประสานงานและผู้ให้ทุนสนับสนุน โดยส่งเสริมความร่วมมือข้ามภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านต่างๆ ของชีวิต เช่น ระบบอาหาร การเคลื่อนที่ และการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล 

การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการนวัตกรรมที่หลากหลาย

MOI จำเป็นต้องมีระบบการจัดหาเงินทุนที่ยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่หลากหลาย แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่วิธีแก้ปัญหาเพียงวิธีเดียว นโยบาย Top Sector policy ของประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นตัวอย่างของโครงสร้างเชิงสถาบันที่ช่วยให้โครงการนวัตกรรมหลายโครงการเกิดขึ้นภายใต้หัวข้อพันธกิจเดียวกัน โดย Top Sectors หรือภาคส่วนที่สำคัญในเศรษฐกิจและการวิจัยนวัตกรรมของเนเธอร์แลนด์ มีความท้าทายใหญ่ 4 ประการ (การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและความยั่งยืน, เกษตรกรรม น้ำและอาหาร, สุขภาพและการดูแลสุขภาพ, และความปลอดภัย) และพันธกิจ 25 ประการที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ Top Sectors ร่วมมือกันในการพัฒนา Integral Knowledge and Innovation Agendas (IKIAs) หรือวาระเชิงกลยุทธ์ที่วางแผนแนวทางสำหรับโครงการนวัตกรรมภายใต้แต่ละพันธกิจ

การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ

การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐสามารถสร้างความสนใจและความกระตือรือร้นให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบนวัตกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งจะสร้างสถานการณ์ที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะได้ประโยชน์ทั้งคู่ ภาครัฐสามารถสรรหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีศักยภาพมาเข้าร่วม และเพิ่มวิธีการใหม่ ๆ ให้กับพอร์ตโฟลิโอทางแก้ไขปัญหาได้ ในขณะที่ภาคเอกชนได้รับทุนสนับสนุนและโอกาสในการทดลองโครงการของตน

ตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและระบบนวัตกรรม ได้แก่ Mission Valencia Neutral City เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้เมืองบาเลนเซียลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจนเป็นศูนย์ สภาเมืองได้ใช้กรอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่งเสริมความร่วมมือจากรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชน แต่ละฝ่ายสามารถเลือกพันธกิจได้สูงสุด 3 พันธกิจจากรายการโครงการที่สามารถนำไปดำเนินการได้ วิธีการนี้เปลี่ยนจากการจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมที่รัฐบาลกำหนดหาผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะ โดยช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาของตนและเปิดรับทุกวิธีการที่เป็นไปได้ที่จะเข้ามาในทิศทางของพวกเขา 

ที่มา:
“Public Sector Innovation Facets: Mission-oriented innovation,” OECD (2021)
“Tackling Policy Challenges Through Public Sector Innovation: A Strategic Portfolio Approach,” OECD (2022)
“Strengthening innovation,” Vinnova
“Mission Driven Top-Sector Policy,” OCED
“Valencia greenlights its first mission to achieve climate neutrality by 2030,” Mission Valencia 2030 

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top