บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 13.06.2023

เพียงในระยะเวลาครึ่งศตวรรษ เราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง หรืออากาศที่ร้อนระอุสูงมากกว่า 40 องศา จนกระทบสุขภาพและเป็นเหตุถึงแก่ชีวิต แม้ผู้เชี่ยวชาญเคยคาดการณ์ถึงโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก หรือสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่สามารถทำลายวิถีชีวิตไว้แล้ว แต่ในขณะที่เรากำลังจดจ่ออยู่กับการจัดการปัญหาที่อยู่ตรงหน้า อาจทำให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ซัดเข้ามาได้ไม่ทันการณ์

โรมัน ครึซนาริค (Roman Krznaric) นักคิดและนักปรัชญาชาวออสเตรเลียได้เสนอว่า ปัจจุบันเราเปรียบเสมือนอยู่ในเกมชักเย่อระหว่าง “สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราคิดถึงเพียงอนาคตที่อยู่ตรงหน้า” และ “การคิดถึงอนาคตในระยะยาว” โรมันเห็นว่าสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนจดจ่ออยู่กับอนาคตระยะสั้นล้วนอยู่รอบตัวทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็น เวลาบนหน้าปัดนาฬิกาที่ควบคุมและเร่งจังหวะชีวิต เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่ดึงสมาธิและความสนใจของเราได้เสมอ ระบบทุนนิยมที่เอื้อต่อการเก็งกำไรจนเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน ความผันผวนไม่แน่นอนของโลก ความต้องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันจบสิ้น และการเมืองที่จดจ่ออยู่แค่การเลือกตั้งทุกๆ 4 ปี ทั้งนี้ นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะก็เห็นพ้องว่า ระบบนี้ทำให้นักการเมืองเสนอและให้ความสำคัญเพียงแต่นโยบายที่สามารถซื้อเสียงประชาชน และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในวาระของตนเท่านั้น

การคิดถึงแต่อนาคตระยะสั้นนั้นอาจไม่ส่งผลกับชีวิตของเราในทันที แต่จะส่งผลกับอนาคตของคนรุ่นหลังอีกหลายล้านล้านคน หากมองปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนลดลงไปทุกวัน หรือแม้แต่ภัยแล้ง วิกฤติการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะเห็นว่า ล้วนเป็นผลจากการดำเนินนโยบายหรือการตัดสินใจในอดีตด้วย เช่นนั้นแล้ว เราสามารถเปลี่ยนและสร้างอนาคตให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไรบ้าง?

“การคิดถึงอนาคตในระยะยาว” (long-term thinking) เป็นการมองปัญหาในระยะยาวที่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจในปัจจุบัน โดยนักนโยบายสามารถนำเครื่องมือนี้ไปประเมินและทบทวนกรอบนโยบายหรือการดำเนินนโยบายในปัจจุบันว่าจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตได้อีกด้วย 

เราควรเริ่มคิดถึงอนาคตในระยะยาวอย่างไร? โรมัน ครืซนาริคเสนอ 6 วิธีตั้งต้นคิดถึงอนาคต เริ่มต้นจากการอยากเป็นบรรพบุรุษที่ดี ได้แก่

    1. อ่อนน้อมต่อเวลาอันเป็นนิรันดร์ ยอมรับว่าชีวิตของเราเป็นเพียงเสี้ยววินาทีหนึ่งในเวลาอันเป็นนิรันดร์เท่านั้น และการตัดสินใจเฉพาะหน้าของเราอาจส่งผลต่อชีวิตที่ต้องอาศัยอยู่บนโลกนี้ต่อจากเราไปอีกหลายปี
    2. เป็นบรรพบุรุษที่ดีของลูกหลาน – ตั้งมั่นอยากให้ลูกหลานจดจำเราในฐานะ “บรรพบุรุษที่ดี” ที่ส่งต่ออนาคตดีๆ ให้ โดยไม่เกี่ยงว่าเขาจะเป็นสายเลือดเดียวกับเราหรือไม่
    3. ตัดสินใจเผื่ออนาคตอีก 7 ชั่วคน นึกถึงผลกระทบของการตัดสินใจในวันนี้เผื่อคนรุ่นหลังอีก 7 ชั่วคน เพราะการกระทำของเราส่งผลต่อคนรุ่นหลังอีกหลายล้านล้านคน และการส่งมอบโลกที่เท่าเทียมนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนรุ่นเรา 
    4. ตระหนักว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในรุ่นเดียว วางแผนสร้างอนาคตระยะยาวเหมือนชาวยุคกลางที่ลงแรงสร้างโบสถ์ที่อาจไม่เสร็จภายในอายุขัยของตน แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีโครงสร้างแข็งแรงและคงทนอยู่คู่มนุษย์มากว่า 500 ปี
    5. คาดการณ์อนาคตแบบองค์รวม – แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้แนวคิดคิดในข้อ 1-4 เพียงข้อใดข้อหนึ่งเพื่อคาดการณ์ถึงอนาคตได้ ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวเลือกที่หลากหลายเผื่อไว้  เช่น เมื่อเจอสถานการณ์ไม่คาดคิด เราต้องเปลี่ยนความผันผวนให้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สิ่งใหม่ ที่ไม่ยึดโยงกับระบบเดิมๆ ได้
  • ขอหนึ่งเป้าหมายเพื่อโลกของเรา เพราะไม่มีโลกใบใหม่ใบสำรอง ไม่มีโลกใบใหม่สำรองให้คนรุ่นหลัง ดังนั้นเราต้องมุ่งดูแลรักษาโลกใบนี้ให้สามารถโอบอุ้มอีกหลายพันล้านชีวิตในอนาคตให้ได้

แล้วแนวคิดข้างต้นนี้สามารถนำมาปฏิบัติจริงกับกลไกของภาครัฐ หรือนำมาปฏิบัติตามกรอบงานของนักนโยบายได้อย่างไรบ้าง?

  1. รัฐสามารถเชิญคนรุ่นใหม่เข้าร่วมในกลไกของรัฐ เช่น ในประเทศเวลส์ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการคนรุ่นใหม่เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ร่างกฎหมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่ ค.ศ. 2016 หรือในประเทศฮังการีและอิสราเอล รัฐบาลก็จัดตั้งคณะกรรมการคนรุ่นใหม่ และให้อำนาจในการวีโต้ร่างกฎหมายในสภากับพวกเขา 
  2. รัฐสามารถร่างนโยบายสาธารณะผ่านการคิดถึงอนาคตในระยะยาว เช่น รัฐบาลนิวซีแลนด์ดำเนินกรอบนโยบายแห่งชาติโดยนำผลกระทบระยะยาวต่อคนรุ่นหลังมาเป็นมาตรวัดด้วย ทำให้เกิดนโยบาย “งบประมาณเพื่อความกินดีอยู่ดี” ในปี 2019 ที่รัฐไม่ยึดถือตัวเลขจีดีพี (Gross Domestic Product) เป็นเพียงมาตรวัดเดียวในการจัดสรรงบประมาณ แต่เน้นแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ในชีวิตของประชาชน เช่น พัฒนาความเป็นอยู่ของเด็ก รวมไปถึงการพยายามลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และนับสุขภาพจิตเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐเน้นรักษาและดูแลสุขภาพจิตของประชาชนอายุต่ำกว่า 24 ปีเป็นสำคัญ
  3. นักนโยบายสามารถใช้เครื่องมือนโยบายแห่งอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็น strategic foresight และใช้แบบวัดผลการดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นหลัง

ในฐานะที่รุ่นเราเพิ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยตรง และคงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนรุ่นหลังอีก “การคิดถึงอนาคตในระยะยาว” จะเป็นหนึ่งทางเลือกที่เราสามารถสร้างอนาคตให้คนรุ่นหลัง พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้รับมือกับความไม่แน่นอนได้ดีกว่าในรุ่นเรา ดังที่เคยมีสำนวนกล่าวไว้ว่า 

“สังคมจะเติบใหญ่ เมื่อคนรุ่นก่อนปลูกต้นไม้ที่รู้ดีว่า พวกเขาจะไม่มีวันได้อาศัยร่มเงา”

อ้างอิง:

  1. https://medium.com/the-long-now-foundation/six-ways-to-think-long-term-da373b3377a4
  2. https://sdg.iisd.org/commentary/guest-articles/future-perfect-integrating-long-term-thinking-into-public-policy/  
  3. https://www.zurich.com/en/media/magazine/2023/why-are-we-so-bad-at-long-term-thinking 
  4. https://www.undp.org/sites/g/files/zskgke326/files/2022-09/UNDP-RBAP-POLYCRISIS-AND-LONG-TERM-THINKING-2022.pdf
  5. https://www.treasury.govt.nz/publications/wellbeing-budget/wellbeing-budget-2019
งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top