บทความ / การพัฒนาเมือง, นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 03.02.2024

‘เขตโขงนคร กลไกความร่วมมือเพื่อยกระดับพื้นที่แห่งการเรียนรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Learning City)’ เป็นโครงการวิจัยที่อยากพัฒนาพื้นที่เมืองนครพนมที่ยังคงความ “เก่า” และเก๋าในทางทุนวัฒนธรรมให้พัฒนาไปพร้อมกับความ “ใหม่” ในการเป็นเมืองเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเริ่มจากกระบวนการรับฟังเสียงจากผู้คนในท้องที่แต่ละกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะสำหรับเมืองนครพนมที่สะท้อนเสียงของทุกคน โดยเน้นทำงานร่วมกันกับเทศบาลนครพนม 25 เขต หรือที่เรียกว่า “คุ้ม”

Thailand Policy Lab ร่วมกับ COLA KKU วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพูดคุยและนำเครื่องมือการทำนโยบายไปเสนอให้กับ

ผศ. ดร. กัญลยา มิขะมา หัวหน้าโครงการวิจัยเขตนครโขง อาจารย์คณะเกษตรและเทคโนโลยีและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม เป้าหมายของอาจารย์คือ การทำให้นครพนมเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เองด้วย โดยพื้นที่ที่ใช้ในกระบวนการวิจัยนี้มีขอบเขตพื้นที่ระยะทาง 5-6 กิโลเมตรเลียบแม่น้ำโขงจนสุดเขตหนองคาย 

จุดเริ่มต้นเขตโขงนคร

จุดเริ่มต้นที่อาจารย์กัญลยาเริ่มการวิจัยที่เมืองนครพนม ไม่ได้มาจากเพียงแค่การที่เมืองนครพนมเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์น่ารักเฉพาะตัวจากความสงบริมแม่น้ำโขง แต่เพราะข้อสังเกตที่อาจารย์ได้จากการดูสถิติการเติบโตของเมืองนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า 

นครพนมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในเชิงการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 132 %  หลังจากมีการสร้างภูมิสัญลักษณ์แห่งศรัทธาอย่างพญาศรีสัตตนาคราชในปี 2559 มีการสร้างเขื่อนกันเซาะ ทางเดินรถต่าง ๆ ส่วนจำนวนโรงแรมและร้านกาแฟก็เพิ่มขึ้นมาก 

เมื่อมีความเจริญเข้ามา การท่องเที่ยวก็ขยายตัวมากขึ้น หลังโควิด นครพนมฟื้นตัวเป็นอันดับ 1 แต่รายได้ที่นักท่องเที่ยวต่อหัวใช้ในเมืองนครพนมนั้นน้อย บวกกับการจัดการปัญหาเรื่องการขนส่ง น้ำ สิ่งแวดล้อมและอาชญากรรมนั้นสวนทางกับความเจริญทางการท่องเที่ยว โครงการวิจัยจึงไปขอทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ ขอทำงานร่วมกับเทศบาลเพื่อค้นหาจุดที่ต้องแก้ไขของนครพนมและนำมาทำเป็นนโยบาย โดยใช้ทุนเดิมของนครพนมเป็น “เส้นเรื่อง” ในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ที่มีเขตโขงนครเป็นพื้นที่ทดลอง 

ทุนทางวัฒนธรรม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมืองนครพนมและเทศบาลเมือง 

ในการวิจัยเพื่อออกแบบนโยบายที่ยั่งยืนสำหรับนครพนม อาจารย์กัญลยาแบ่งวัตถุประสงค์เป็น 3 ส่วน เพื่อที่จะได้เริ่มทำนโยบายจากทั้งบนลงล่างและล่างขึ้นบนไปพร้อมๆ กัน

“ส่วนแรกคือการยกระดับทุนทางวัฒนธรรมของนครพนมเพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และเศรษฐกิจ เราศึกษาและรวบรวม ‘ทุน’ ด้านศิลปวัฒธรรม อาหาร สถาปัตยกรรม ภาษา ฯลฯ ที่บ่งบอกความเป็นนครพนม โดยมีจุดประสงค์ว่าโครงการวิจัยต้องการให้ผู้คนภายนอก เช่น นักท่องเที่ยว ฯลฯ เข้ามาเรียนรู้ เราจะสร้างพื้นที่ตรงไหน สร้างกิจกรรมอย่างไร เพื่อให้เขาได้เรียนรู้เมืองนครพนม และถ้าเป็นคนในเมืองนครพนมเองที่จากกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ฯลฯ ผู้เป็นเจ้าของภูมิปัญญานี้  เขาจะเอาภูมิปัญญามาจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้คนข้างนอกได้เรียนรู้นครพนมและเพื่อให้คนนครพนมรักษาภูมิปัญญานี้ได้ต่อไปได้อย่างไร และที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย 

“วัตถุประสงค์ที่ 2 คือการพัฒนาทักษะดิจิตอลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจชุมชนและคนในพื้นที่ เราพยายามแนะนำและเพิ่มทักษะดิจิตอลให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่เจ้าของร้านค้า ร้านอาหาร เจ้าของโรงแรม กลุ่มขับสามล้อ รวมถึงกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการสร้างพญาศรีสัตตนาคราช เช่น กลุ่มให้เช่าบูชาดอกไม้ ฯลฯ

เราจัดแยกกลุ่มของผู้ประกอบการ ว่ามีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง และกลุ่มเหล่านี้ จำเป็นต้องยกระดับการเรียนรู้เชิงดิจิตอลอย่างไรบ้าง เพื่อที่เขาจะใช้เครื่องมือเหล่านี้กระจายความเป็นตัวตนของเขาให้คนเข้าถึงนครพนมได้ เมื่อคนเข้าถึงเขาแล้ว สื่อสารได้ รายได้และอาชีพของคนในพื้นที่ก็จะเพิ่มขึ้น

“ข้อที่ 3 มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างกลไกการเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์บทบาทภารกิจของเทศบาลในการดูแลเมืองว่าในภาวะปกติและในช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก มีการจัดการบริหารอย่างไร

ในระหว่างที่ทำเราเจอกลุ่มขับสามล้อหรือกลุ่ม Skylab ผู้เป็นกลุ่มขนส่งที่สำคัญของเมือง เปรียบเสมือนตัวแทนและคนสื่อสารของเมือง เนื่องจากนครพนมยังไม่มีรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มสามล้อนี้เองถือเป็นขนส่งที่นักท่องเที่ยวมาพึ่งพิงในการพาเยี่ยมชมเมืองได้

ทีมวิจัยเลยเข้าไปทำงานร่วมโดยการช่วยเสริมการสื่อสารระหว่างกลุ่มสามล้อกับนักท่องเที่ยว รวมถึงการพยายามสร้างระบบราคากลางที่เสถียรตามระยะทาง และการจัดการสถานที่ขึ้นลงรถอย่างเป็นระบบ ฯลฯ ที่แม้ว่าตอนนี้ยังไม่สำเร็จ 100 % แต่ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีขึ้นจากกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่”

การเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคนและเครื่องมือการทำนโบาย 

“การชวน TPLab เข้ามาร่วมโครงการนี้ ทำให้เราได้ใช้เครื่องมือในการทำนโยบายต่างๆ ไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เราใช้เครื่องมือ Persona มาทำกับกลุ่ม Skylab เพื่อให้รู้จักกลุ่มและความต้องการของเขามากขึ้น ใช้กับกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายและอุดมศึกษาเพื่อดูว่าเด็กๆ คิดยังไงกับนครพนม เช่น เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัย อยากทำงานที่นครพนมไหม พยายามหาจุดดีจุดด้อย เพื่อมานำไปออกแบบนโยบายสำหรับคนทุกช่วงวัย

“ในช่วงเทศกาลก่อนเทศกาลไหลเรือไฟ เราร่วมกับ TPLab ทำแบบสอบถามที่มีการออกแบบวิธีการถามและเก็บข้อมูลใหม่ ว่าช่วงที่นักท่องเที่ยวมา มาเพราะอะไร ใช้เงินกับกิจกรรมไหน อยากเห็นนครพนมเป็นภาพไหน และเมื่อจบเทศกาลไหลเรือไฟ เราก็ทำการเก็บข้อมูลอีกครั้งกับคนในพื้นที่ เราพยายามจะดู ความภูมิใจ ความคาดหวัง ภาพฝันนครพนมของคนนครพนมเป็นอย่างไร เพื่อที่จะดูว่าถ้าเราจะสร้างนโยบายขึ้นมาสักอัน เรื่องแรกที่คนนครพนมอยากจัดการคืออะไร พบว่าอยากจัดการเรื่องขยะที่เกิดขึ้นหลังงานเทศกาลใหญ่ เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อนอันดับแรก

“หลังจากชวน TPLab มาร่วมงานกัน เราได้รู้ว่าถ้าเราอยากได้ข้อมูลประเภทนี้ จากคนกลุ่มนี้  ใช้เครื่องมือไหนเหมาะ นี่คือสิ่งที่ TPLab เข้ามาช่วย

“เครื่องมือที่ใช้ถือว่ามีความยืดหยุ่นสูง แต่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ว่าชัดเจนแค่ไหน ตัวเราต้องชัดเจนว่าวันนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มนี้ วัตถุประสงค์ของการพูดคุยวันนี้ สิ่งที่คุยวันนี้ จะเอาข้อมูลนี้ไปทำอะไรต่อ ถ้าเราชัดเจน เราก็จะใช้เครื่องมือจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

อาจารย์กัญลยาปิดท้ายว่า การใช้เครื่องมือทำนโยบายนั้น ทำให้ทั้งสองหน่วยงานเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทางโครงการวิจัยเองก็ได้เรียนรู้ที่จะเลือกใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการเก็บข้อมูล เลือกเครื่องมือที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทาง TPLab เองก็ได้ทดลองใช้เครื่องมือบางอย่างกับเมืองนครพนมไปในตัวด้วย

เฉกเช่นเดียวกันกับที่ทางโครงการวิจัย เทศบาล และกลุ่มคนในพื้นที่เอง ได้เรียนรู้จากกันและกันในการสร้างกลไกให้นครพนมกลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และเศรษฐกิจต่อไป

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top