บทสัมภาษณ์ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 07.09.2023

นอกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Thailand Policy Lab (TPLab) ยังได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรในวิชาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ที่ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างวิชา “การสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้นักศึกษาปริญญาโทได้เรียนรู้เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายพร้อมลงพื้นที่สัมผัสกรณีศึกษาจริง เพื่อปูพื้นฐานความรู้ด้านทฤษฎี ไปพร้อมกับเข้าใจสถานการณ์ในโลกนโยบายสาธารณะปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ด้วยพื้นฐานการวิจัยการศึกษาสถานะและทิศทางของความรู้ด้านนโยบายสาธารณะอย่างเข้มข้นเกือบ 10 ปีของ อาจารย์ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ประจำวิชา “การสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ทำให้อาจารย์ตั้งใจพัฒนาหลักสูตรให้การศึกษานโยบายสาธารณะออกนอกกรอบแบบที่เคยเป็นใน วงการศึกษานโยบายสาธารณะในไทย ซึ่งส่วนมากถูกสอนในฐานะเทคนิคหรือเครื่องมือสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ให้กลายเป็นการเรียนรู้นโยบายสาธารณะที่เข้าใจที่มาที่ไปของการสร้างองค์ความรู้นโยบายสาธารณะในประเทศไทย ทั้งยังเข้าใจกระบวนการออกแบบนโยบายที่ปัจจุบันมีความเป็นสหวิชา และต้องเข้าใจปัญหาในโลกนโยบายที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น 

“ในกรอบ” วิชานโยบายสาธารณะ

อาจารย์ธีรพัฒน์อธิบายว่า การศึกษานโยบายสาธารณะแบ่งออกได้เป็น 2 สำนักใหญ่ๆ ได้แก่ สายวิเคราะห์นโยบาย (policy analysis) เน้นการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และสายวิเคราะห์กระบวนการเชิงนโยบาย (policy process) ซึ่งเน้นศึกษาวิเคราะห์นโยบายในแง่ความสัมพันธ์เชิงการเมือง เชิงอำนาจ ส่วนในไทยนั้นเน้นการสอนเชิงวิเคราะห์นโยบายมากที่สุด แต่ปัญหาคือการสร้างกรอบให้กับวิชานโยบายให้จำกัดอยู่แค่ในคณะรัฐประศาสนศาสตร์เท่านั้น แม้ทั่วโลกจะยอมรับว่าการศึกษานโยบายสาธารณะคือการศึกษาแบบสหวิชา

“การจำกัดวิชาที่หัวใจสำคัญคือการศึกษาแบบสหวิชาชีพให้อยู่เพียงแค่ในกรอบการเรียนการสอนในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งทำให้เกิดสภาวะย่ำอยู่กับที่ของความรู้” อาจารย์ธีรพัฒน์ชี้ “แน่นอนเราต้องย้ำว่าการสอนวิชานโยบายสาธารณะในสาขารัฐประศาสนศาสตร์นั้นไม่ผิดเลย แต่การมีกฎเกณฑ์ให้พื้นที่วิชานี้เพียงแค่ในสาขานี้นั้นจะทำให้ความรู้ย่ำอยู่กับที่ แท้จริงแล้ว ควรมีสอนทั้งในสาขานี้และสาขาอื่นๆ ด้วย เพราะสถานะของความรู้เชิงนโยบายนั้นไม่ควรถูกผูกขาดด้วยสำนักใดสำนักหนึ่ง” 

ความคิดนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายของนักนโยบายรุ่นใหม่ที่มีความเห็นและความฝันตรงกันชื่อ Thailand Public Policy Network (TPPN) โดยทางเครือข่ายมีการจัดงานเสวนาให้เห็นถึงความหลากหลายในการศึกษานโยบายสาธารณะ รวมไปถึงผลิตผลงานทางวิชาการที่พยายามเปิดมุมมองการศึกษานโยบายสาธารณะให้กว้างขึ้น ยั่งยืนขึ้น และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และผลักดันงานวิชาการให้เห็นถึงทิศทางและการเปลี่ยนผ่านทางความรู้ของนโยบายสาธารณะของประเทศไทย ขยายพรมแดนการศึกษานโยบายสาธารณะไม่ให้ย่ำอยู่กับที่

นอกจากการสร้างเครือข่ายในกลุ่มนักวิชาการและนักนโยบายสาธารณะแล้ว การสร้างและพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้นักนโยบายรุ่นใหม่เห็นภาพกระบวนการเชิงนโยบายในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นก็สำคัญเช่นกัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงหลักสูตร อาจารย์ธีรพัฒน์จึงชวน TP Lab และ Act Lab เข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรวิชา “การสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตได้เรียนในภาคการศึกษาฤดูร้อนที่ผ่านมา

“ออกนอกกรอบ” ด้วยนวัตกรรมเชิงนโยบาย

“พอชวนทาง TPLab กับ Act Lab แล้วเราก็ใช้เวลาเกือบๆ 6-7 เดือนเลยนะในการวางแผนการสอนวิชานี้” อาจารย์ธีรพัฒน์เล่า “แล้วชื่อวิชานี้ไม่มีคำว่านวัตกรรมเชิงนโยบาย (policy innovation) เลยนะ แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ TPLab คือเรื่องนี้ เราเลยไปคิด ไปทำการบ้านมา จนตกผลึกว่า นวัตกรรมเชิงนโยบายกับการสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืนคือเรื่องเดียวกัน”

“การสร้างสรรค์ที่ภาครัฐชอบพูดถึงคือการเติบโตเศรษฐกิจ อย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ในเชิงนโยบายสาธารณะ การสร้างสรรค์นั้นมีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเป็นธรรมทางสังคม

“การสร้างสรรค์คือศักยภาพในการทำสิ่งที่ต่างไปจากบรรทัดฐานเดิม เป็นการฝึกให้คนคิดนอกกรอบ และเท่านั้นยังไม่พอเพราะหลายครั้งความคิดสร้างสรรค์นี่แหละคือการคิดต่อต้านบรรทัดฐานแบบเดิมที่ฝังรากลึกในสังคม อย่างการทำนโยบายแบบเดิมๆ การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ กล่าวได้ว่าเป็นการวางตัวตรงข้ามกับวัฒนธรรมเช้าชามเย็นชาม หรือโครงสร้างอำนาจแบบเดิมได้เลย

“ดังนั้นการสร้างสรรค์จึงจำเป็นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาคือระหว่างความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไอเดียอยู่ในหัว กับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นยังขาดตัวเชื่อมโยงที่จะเปลี่ยนไอเดียไปสู่การลงมือทำจริง แต่นวัตกรรมเชิงนโยบายของ TPLab เปรียบเสมือนตัวกลางที่ช่วยแปลงความคิดนอกกรอบให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้”​

เนื่องจากวิชานี้เป็นวิชาเลือกทำให้ไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบมาตรฐานทางความรู้ ทำให้อาจารย์และหน่วยงานภายนอกทั้งสองสามารถแปลแนวคิดข้างต้นออกมาเป็นโครงร่างวิชาได้จริง ซึ่งประกอบไปด้วย เลคเชอร์ออนไลน์ช่วงเย็นวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์นักศึกษาจะได้เข้าเวิร์คชอปเครื่องมือเชิงนโยบายจาก TPLab และจากความอนุเคราะห์ของ Act Lab ทำให้ได้ลงพื้นที่ดูการทำรัฐวิสาหกิจชุมชน ‘เพียรหยดตาล’ และได้พูดคุยกับนายกสมาคมวินมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก รวมทั้งได้นำเครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายมาทำให้นักศึกษาได้ฝึกคิดเชิงสร้างสรรค์ พร้อมกับแสดงความเห็นอกเห็นใจกับผู้ได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน

สร้างทักษะเตรียมพร้อมสู่โลกของนโยบายที่ซับซ้อน

ในโลกของนโยบายที่ซับซ้อน คุณสมบัติสำคัญของนักนโยบายต้องมีทั้งทักษะการวิเคราะห์นโยบายเพื่อให้เข้าใจถึงข้อเสนอนโยบายแต่ละประเภท ต้องมีทักษะการบริหารและการจัดการนโยบาย และที่สำคัญคือต้องมีไหวพริบเชิงนโยบาย (policy acumen) ซึ่งต้องสร้างความสมดุลระหว่างว่าสิ่งที่ดำเนินนโยบายนั้นสำคัญหรือไม่ (what matters) กับการดำเนินนโยบายอย่างไรได้บ้าง (what works)

“เช่น ถ้าสนใจแต่ what works เช่น เราตั้งเป้าปลูกต้นไม้ได้ 100 ต้น แล้วก็ปลูกได้ 100 ต้นจริงๆ เราต้องมาตั้งคำถามว่าแล้วมันสำคัญกับความต้องการหรือตอบโจทย์ปัญหานั้นไหม หรือรู้จักกรณีศึกษาที่อื่นที่สามารถนำมาถอดบทเรียนได้ไหม อันนี้คือสิ่งที่สอนกันยาก ต้องอาศัยประสบการณ์

“แต่เราสามารถพอสอนได้ในวิชานี้จากการลงพื้นที่ศึกษากรณีศึกษา และความรู้ด้านเครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายจาก TPLab ยังช่วยเสริมสร้างทักษะการวิเคราะห์ให้กับนักศึกษาได้อีกด้วย และถ้านักศึกษามีทั้งมุมมองและความสามารถเหล่านี้ จะทำให้เขามีความพร้อมในโลกนโยบายที่เป็นการผนวกรวมของสหวิชาหลากหลายสาขาและหลากกหลายมุมมอง” อาจารย์ธีรพัฒน์สรุป

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top