บทสัมภาษณ์ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 19.07.2023

คุยกับ อ.นาอีม แลนิ ที่ร่วมมือกับ TPLab ให้ นศ. ได้ลงพื้นที่ทดลองสร้างนโยบายด้วยตนเอง

ปัญหาสาธารณะในปัจจุบันเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จนการเรียนรู้และแนวทางการสร้างนโยบายแบบเดิมๆ ก้าวไม่ทัน และต้องอาศัยความรู้เฉพาะด้านของผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา Thailand Policy Lab (TPLab) ได้ร่วมมือกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรในวิชานโยบายสาธารณะ “ Integrated Policy Making and Practice” ในภาคเรียนปิดเทอมฤดูร้อนเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงปีนี้ (2022-2023) ให้นักศึกษาได้เรียนรู้เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบาย (policy innovation) และได้ลงมือลองสร้างและนำเสนอนโยบายให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

กระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง? นักศึกษาได้ลองลงพื้นที่ไปสัมผัสอะไรบ้าง? และเพราะเหตุใดเราถึงควรเริ่มสอนนวัตกรรมเชิงนโยบายตั้งแต่ในคลาสเรียน? มาค้นหาคำตอบกับ อาจารย์นาอีม แลนิ เจ้าของรายวิชานี้ด้วยกันเลย

การเมือง-การจัดการ-บูรณาการ: 3 รูปแบบของการเรียนด้านนโยบายสาธารณะ

“แนวทางการเรียนนโยบายสาธารณะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ แบบแรก คือ เรียนเรื่องการเมืองในนโยบายหรือ Politics of Policy เช่น เรียนรู้โครงสร้างอำนาจในการทำนโยบายขึ้นมาว่า นโยบายมาจากกลุ่มการเมือง กลุ่มอิทธิพล ซึ่งถ้าเราไปดูในประเทศประชาธิปไตย นโยบายก็มาจากภาคประชาสังคม ประชาชน มาจาก NGOs หรือมาจากท้องถิ่น แต่ในบริบทของประเทศไทยเอง หรือประเทศในเอเชีย เราก็จะเห็นรัฐบาลแบบอำนาจนิยมที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบายสูง นอกจากนี้ ยังศึกษาว่า กฎหมายแบบไหน หรือรูปแบบของรัฐแบบไหนที่มีส่วนกำหนดนโยบาย เช่น สิงคโปร์ เป็นรัฐรวมศูนย์ ประธานาธิบดีมีอำนาจในการทำนโยบาย  เราต้องยอมรับว่านโยบายไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้ 

“รูปแบบที่สอง คือ การเรียนบริหารรัฐกิจหรือรัฐประศาสนศาสตร์หรือ Policy management เราศึกษากระบวนการทำนโยบายว่า เราจะทำยังไงให้นโยบายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริหารงบอย่างไร ต้องการทรัพยากรบุคคลเท่าไหร่ หน่วยงานไหนจะนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมไปถึงกระบวนการติดตามและประเมินผล Monitoring and Evaluation เราต้องออกแบบเครื่องมือในการประเมินอย่างไร หน่วยงานไหนเป็นคนประเมินผล ผลในการประเมินก็จะต่อยอดเป็นวงจรนโยบาย หรือวงจรการบริหารนโยบายต่อไป

“รูปแบบที่สาม คือ การเรียนแบบสหวิชาหรือ Interdisciplinary ซึ่งผมคิดว่ารูปแบบนี้ยากที่สุด 

ด้วยความที่ปัจจุบันการเรียนนโยบายซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะปัญหาซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่เราเคยคิดว่าไม่เป็นปัญหาสาธารณะก็เป็นปัญหาสาธารณะได้ อย่างเช่น เรื่องสุขภาพจิต (mental health) แล้วพอปัญหามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำความเข้าใจนโยบาย ดังนั้น การเรียนแบบที่สามจะไม่สามารถเรียนในคณะของเราเองได้ แต่เราต้องยืมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมในการออกแบบนโยบายด้วย และต้องใช้แนวทาง Policy Research และ Policy Design มากขึ้น” 

เมื่อปัญหาสาธารณะเปลี่ยนไป การเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนตาม หลังอาจารย์นาอิมได้รับโจทย์จากหัวหน้าสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ ให้ออกแบบวิชาเรียนใหม่ ก็ได้โอกาสร่างวิชาเสริมสกิลให้นักศึกษาได้ลองใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายตั้งแต่ในห้องเรียน ซึ่งเปิดสอนในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน

“ผมตั้งชื่อหัวข้อว่า Integrated Policymaking and Practice มีเป้าหมายหลักให้นักศึกษาคิดอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้นในการทำนโยบาย คือไม่ใช่แค่คิดค้นนโยบาย แต่มองถึงความเป็นไปได้ในการทดลองนโยบาย แล้วมองไปถึงการปฏิบัติของนโยบายมากยิ่งขึ้น แล้วก็จากปกติเราก็จะสอนทฤษฎีใน ปี 1 ถึง ปี 3 พอจบปี 4 เขาถึงเพิ่งเข้าไปอยู่ในโลกของ Hackathon หรือโลกการทำงาน ผมคิดว่ามันช้าไป ทำไมเราไม่ดึงตัวกิจกรรมต่างๆ หรือการอบรมที่เกี่ยวกับนวัตกรรมให้เขาเรียนตั้งแต่มหาวิทยาลัย 

จับมือ Thailand Policy Lab นำนวัตกรรมมาปรับและปรุงวิชานโยบายสาธารณะใหม่

“ต่อมาผมต้องหาแพลตฟอร์มและพาร์ทเนอร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้อยู่แล้ว ผมก็เลยไปเล่าให้ทาง TPLab ฟังว่า ผมมีเป้าหมายประมาณนี้ ต้องการให้ฝึกนักนโยบายให้นักศึกษาเริ่มเรียนเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมตั้งแต่อยู่ในห้องเรียน ผมก็เลยพูดคุยกับทาง TPLab ว่าเราสามารถทำคลาสร่วมกันได้ไหม โดยเราอยากให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของคลาสในฐานะผู้ออกแบบวิชาร่วมกันไม่ใช่แค่ผู้เข้าร่วม ”

“เราได้ TPLab มาช่วยไกด์เครื่องมือ เช่น Causal Loop Analysis หรือ Iceberg Model ในการทำเวิร์คชอป ก่อนที่นักศึกษาจะมีโอกาสไปนำเสนอนโยบายที่ UNESCAP แล้ว TPLab และสภาพัฒน์ยังเป็นเมนเทอร์ให้นศ.ด้วยว่าแต่ละกระบวนการ แต่ละขั้นตอนของนโยบายสาธารณะต้องมีอะไรบ้าง โดยปีที่แล้วเราได้รับโจทย์จากสภาพัฒน์ฯ และ TPLab คือเรื่อง mental health 

“ส่วนปีนี้เราพาร์ทเนอร์กับกรุงเทพมหานคร เพราะผมรู้สึกว่า ปัญหาเรื่องเมืองเป็นปัญหาใหญ่ แล้วทางกทม.มีกรณีศึกษา มีพื้นที่ มี sandbox ของตัวเอง อย่างเมื่อวาน ผมกับนักศึกษาใช้เวลา 1 วันลงพื้นที่ sandbox ด้านสุขภาพของกทม. จากนั้นช่วงบ่ายก็ได้พูดคุยกับรองผู้ว่าฯ กทม. ได้แก่ อาจารย์ทวิดา กมลเวชช และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ  เรื่องการออกแบบนโยบาย ส่วนเราก็สอนเรื่องเครื่องมือให้กับนักศึกษาว่าสามารถออกแบบนโยบายรูปแบบไหนได้บ้าง

“นักศึกษาหลายคนอยากเสนอ solution (วิธีแก้ปัญหา) เลยทันที หรือบางครั้งก็อยากแก้ปัญหาที่ยากที่สุดก่อน เช่น อาจารย์ทวิดาอยากแก้ worldview (โลกทัศน์) ของคน ผมเลยต้องบอกนักศึกษาตลอดว่าอย่าเพิ่งกระโดดหรือด่วนสรุปไปที่วิธีแก้ปัญหา เราต้องค่อยๆ ไล่ตามสเต็ปตามกระบวนการทำงานของ TPLab ซึ่งเริ่มจาก การวิเคราะห์ปัญหา ดูระบบนิเวศน์ของปัญหา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจุดแข็งที่สุดของการเรียนไม่ใช่แค่เรียนเครื่องมืออย่างเดียว แต่คือการให้นักศึกษาได้ลองเป็นกระบวนกรนำกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียนด้วยกัน แล้วเราใช้เครื่องมือเป็นตัวช่วยจัดระเบียบการสอน 

“นักศึกษาปีที่แล้วตื่นเต้นมากๆ เวลาได้เจอหน่วยงานภายนอก ปกติเห็นหน้าอาจารย์ในคลาสก็คงไม่ตื่นเต้นอะไรมาก แต่พอได้เจอพี่ฑิฟฟาณี เชน [Policy Exploration Analyst จาก TPLab] หรือทีมงานสภาพัฒน์ ได้ไปนำเสนองานข้างนอก มันเหมือนได้อยู่ในอีกโลกหนึ่งเลย แล้วก็เป็นการท้าทายนักศึกษาด้วยว่าเขาสามารถไปได้ไกลมากแค่ไหน และยังเป็นการพัฒนาตัวผู้สอนและคณะเองด้วย เพราะถ้าไม่ได้ทำงานกับหน่วยงานภายนอก เราก็จะสอนแต่สิ่งที่เรารู้ในระดับหนึ่ง แต่พอได้ทำงานกับ TPLab เราและคณะก็มีเน็ตเวิร์คที่กว้างขึ้น 

“นอกจากเวิร์กช็อปหรือวิชาที่ทันสมัยแล้ว การสอนทฤษฎีก็ยังคงสำคัญ เช่น เราก็ต้องสอนทฤษฎีให้เขาเข้าใจด้วยว่า ทำไมต้องถึงพูดถึงการจัดการปกครองแบบประสานความร่วมมือ (Collaborative Governance) และมันคืออะไร หรือนักศึกษาทุกคนเคยได้ยินอยู่แล้วว่าอะไรคือ urban lab, policy lab แต่ถ้าเราไม่สอนว่ามันคืออะไร มันทำงานยังไง เขาก็อาจจะเข้าใจผิดได้ ดังนั้นเราก็ต้องช่วยเตรียมความพร้อมนักศึกษาว่าสามารถทำงานกับนวัตกรรมเหล่านี้ได้มากน้อยขนาดไหน มีความพร้อมในการนำเสนองานหรือยัง

กระบวนการคิดแบบใหม่ที่ถูกต่อยอดและปรับใช้ในวิชาอื่น

นอกจากนี้ เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายยังช่วยเสริมกระบวนการทางความคิดและนำไปประยุกต์กับการวิเคราะห์ในวิชาอื่นๆ ได้อีกด้วย “เครื่องมือนี้ย้งสามารถเอาไปวิเคราะห์ในการศึกษาหรือการพัฒนาระหว่างประเทศได้ เช่น วิเคราะห์ว่าใครคือ actors ในวิชาอื่นๆ เช่น วิชาสิทธิมนุษยชน เพราะมีตัวแสดงที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว และเครื่องมือนี้จะช่วยให้วิเคราะห์ได้เป็นระบบมากขึ้น

“ถ้าถามว่าเราเรียนแนวทางนี้ [แบบ interdisciplinary] ไปเพื่ออะไร ก็เพราะประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ต้องอาศัยความรู้เชิงลึกมากขึ้น และสุดท้ายก็เพื่อตอบโจทย์การเรียนแบบที่ 1 [การเมืองในนโยบาย] และแบบที่ 2 [การบริหารนโยบาย] เพราะถ้ามีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยนักนโยบายมากขึ้น การบริหารนโยบายก็จะดีขึ้น การใช้ policy lab และนวัตกรรมเชิงนโยบายก็จะช่วยทำให้วงจรนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการการเมืองในนโยบายด้วยเช่นกัน เพราะนโยบายจะมาจากพื้นฐานข้อมูลเชิงลึก ไม่ได้มาจากรัฐบาลหรือผู้บริหารเป็นคนตัดสินใจเท่านั้น” อาจารย์ทิ้งท้าย

เห็นได้ว่านวัตกรรมเชิงนโยบายสามารถเริ่มได้ในห้องเรียนโดยไม่ต้องรอให้ถึงโลกการทำงาน นอกจากนี้ ห้องเรียนแบบนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและมหาวิทยาลัยได้ขยายพรมแดนความรู้และเครือข่ายกับองค์กรภายนอกเพื่อสร้างชุมชนนักนวัตกรที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะไทยให้ก้าวเท่าทันปัญหาและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top