บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย, เทคโนโลยี
Published: 25.08.2023

ในกระบวนการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight) โดยทั่วไปต้องมีขั้นตอนการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ก่อนที่จะสร้างกลยุทธ์ต่อไป หลายๆ ครั้งเราอาจเข้าใจว่า การวิเคราะห์อนาคตนั้นทำได้ด้วยการวิเคราะห์เทรนด์หรือแนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่วิธีนี้จะทำให้เราลืมนึกถึงอนาคตรูปแบบอื่นๆ ที่คาดไม่ถึง

โจเซฟ โวรอส (Joseph Voros) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ได้พัฒนาเครื่องมือชื่อว่า “Future Cones” เพื่อคาดการณ์ถึงอนาคตได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น และช่วยให้นักนโยบายสามารถจำแนกได้ว่าอนาคตที่ตนกำลังนึกถึงนั้นจัดอยู่ในประเภทไหน และเครื่องมือนี้ยังช่วยให้เราสามารถคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ได้ครอบคลุมมากขึ้นอีกด้วย

โวรอสเปรียบเทียบว่า การมองอนาคตก็เหมือนการมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าผ่านไฟหน้ารถ เพราะเราจะมองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าชัดเจนมากกว่าส่วนที่แสงส่องไปไม่ถึง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง อนาคตก็เช่นกัน เราจะเห็นเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ชัดกว่าเหตุการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดจะไม่เกิดขึ้น โดยโวรอสได้จำแนกประเภทของอนาคตออกเป็น 7  เหตุการณ์ ได้แก่

1. เหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ (potential) – ทุกเหตุการณ์ที่อยู่ในแผนภูมิถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้ทั้งหมด รวมถึงเหตุการณ์ที่ดูเกิดขึ้นจริงได้ยาก
2. เหตุการณ์ที่เป็นไปไม่ได้แน่ๆ (preposterous) – เหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์บนสมมุติฐานที่เราเคยตั้งไว้
3. เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ (possible) – ถ้าในอนาคตเรามีความรู้ที่เพียงพอ เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้
4. เหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ (plausible) – สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้วัดจากความรู้และความเข้าใจของมนุษย์ในปัจจุบัน
5. เหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้น (probable) – เหตุการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเมื่อวิเคราะห์จากเทรนด์และสถานการณ์ในปัจจุบัน
6. เหตุการณ์ที่อยากให้เกิดขึ้น (preferable) – เหตุการณ์ที่อยากให้เกิดขึ้น วัดจากคุณค่าที่ยึดถือของแต่ละคน
7. เหตุการณ์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น (projected) – เหตุการณ์ที่คาดการณ์ว่าต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หรือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

การเครื่องมือนี้จะต้องคำนึงถึง เวลา ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ โดยโวรอสยกตัวอย่างเหตุการณ์ลงสำรวจดวงจันทร์ของโครงการ “Apollo 11” ที่เคยเป็นอนาคตที่แทบเป็นไปไม่ได้ (preposterous) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะในเวลาต่อมา เมื่อมนุษย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี โครงการนี้ก็กลายเป็นความจริงได้ในปี ค.ศ. 1969 ดังนั้น เวลาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่าเหตุการณ์นั้นๆ เป็นไปได้หรือไม่ 

สำหรับใครที่อยากนำเครื่องมือนี้ไปปรับใช้ อาจเริ่มจากการระดมความคิดว่า เหตุการณ์นั้นๆ มีสัญญาณ (signals) และปัจจัยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง (drivers) อะไรบ้าง จากนั้นต้องวิเคราะห์ออกเป็นสถานการณ์ (scenarios) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แล้วนำมาจัดลำดับว่า เหตุการณ์ใดคือเหตุการณ์ที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ไปจนถึงเหตุการณ์ที่ไม่น่าเป็นไปได้เลย โดยในระหว่างกระบวนการ กระบวนกรอาจกำหนดให้นักนโยบายเลือกการ์ดสุ่ม (wildcard) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่อาจส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์อนาคตได้ เช่น ในกลุ่มอาจสุ่มได้ “ไพ่สถานการณ์โรคระบาดโรคใหม่”​ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับอนาคตเหมือนกับที่โควิด-19 กระทบกับชีวิตเราในทุกมิติ หรืออาจจะได้ “ไพ่รัฐบาลสหรัฐสั่งย้ายฐานการผลิตในทวีป x” ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบกับอนาคตที่เราวาดไว้ก็ได้ วิธีนี้จะช่วยเสริมให้เรานึกถึงอนาคตที่อาจไม่คาดคิดมาก่อน รวมไปถึงนึกถึงปัจจัยขับเคลื่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเช่นกัน

หลังจากได้แผนผังอนาคตแล้ว เรายังสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อว่า อนาคตใดคืออนาคตที่เราต้องการและไม่ต้องการ และเราควรทำอย่างไรเพื่อก้าวไปให้ถึงอนาคตที่ต้องการ เพื่อให้การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์นั้นครอบคลุมทุกความเป็นไปได้มากที่สุด

ที่มา : UNDP Foresight Manual 2018

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top