อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดการกับมัน อย่างไรก็ตาม ยังมีเบาะแสต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ได้แก่ สัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงและโอกาสที่หลากหลายอันเกิดจากปรากฏการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา หรือเทคโนโลยีในปัจจุบัน ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับเครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายที่เรียกว่า “กรวยแห่งการคาดการณ์” หรือ “forecasting funnel” ซึ่งจะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้
มารู้จัก Forecasting Funnel กันเถอะ
Forecasting funnel เป็นกรอบแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่อาศัยข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ มีประโยชน์ในการ: 1) หาสัญญาณอ่อนของการเปลี่ยนแปลงรวมถึงรูปแบบของแนวโน้ม และ 2) สร้างภาพสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของสัญญาณต่างๆ คุณสามารถใช้ forecasting funnel เพื่อสร้างสถานการณ์ที่จะเผยให้เห็นความท้าทายและโอกาสที่เป็นไปได้ หรือเพื่อวางกลยุทธ์ในการดำเนินการก้าวต่อไปของคุณ
สถาบัน Future Today แนะนำว่า Forecasting funnel แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
- ระบุสัญญาณและแนวโน้มที่ส่งผลกำหนดอนาคต
- จินตนาการถึงสถานการณ์ในอนาคต
- ก้าวสู่อนาคตด้วยการวางแผนเชิงกลยุทธ์
1. ระบุสัญญาณและแนวโน้มที่ส่งผลกำหนดอนาคต
ในส่วนนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่สัญญาณต่างๆ และดึงข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มจากสิ่งที่เราค้นพบจากสัญญาณเหล่านั้น
เพื่อสำรวจสัญญาณ เราสามารถใช้เครื่องมือสร้างแผนภาพ ที่เรียกว่า “ภาพร่างขอบ” “Fringe Sketch” เพื่อวาดสัญญาณอ่อนในสเปคตรัมระดับต่างๆ แหล่งที่มาของ disruption หรือจุดก่อความเปลี่ยนแปลงจะถูกวางจัดลงในแผนภาพนี้ พร้อมกับลากเส้นเชื่อมต่อระหว่างกัน เพื่อแสดงภาพรวมของสัญญาณแต่ละตัวในระดับมหภาคและจุลภาค และคิดถึงผลกระทบของเส้นใยที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกันเหล่านี้

ที่มา: มหาวิทยาลัย Seton Hall
เพื่อหาแนวโน้มของสัญญาณที่พันกัน เราสามารถใช้ โมเดล CIPHER เป็นกรอบทฤษฎีในการระบุและจัดกลุ่มสัญญาณ:
Contradictions (สิ่งที่ขัดแย้ง) | เมื่อสิ่งต่าง ๆ ที่โดยปกติขัดแย้งกันกลับอยู่ในเส้นทางเดียวกัน หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน แต่ในที่สุดก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง |
Inflections (การผันแปร) | เมื่อการเปลี่ยนแปลงถูกเร่งให้เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในบางสิ่ง |
Practices (แนวทางปฏิบัติ) | แนวทางปฏิบัติที่ยึดถือมายาวนานและการท้าทายต่อสิ่งที่ได้รับการกำหนดเป็นบรรทัดฐาน |
Hacks (การแฮค) | เมื่อผู้คน “ปรับแต่ง” บางสิ่งและใช้งานสำหรับสิ่งที่ไม่ใช่จุดประสงค์แรกเริ่มของมัน |
Extremes (ความสุดขอบ) | เมื่อผู้คนผลักดันขอบเขตไปสู่จุดที่เปลี่ยนแปลง |
Rarities (สิ่งหายาก) | เหตุการณ์ “หงส์ดำ” หรือความผิดปกติในระบบ |
2. จินตนาการถึงสถานการณ์ในอนาคต
แนวโน้มที่จับได้นั้นเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับสถานการณ์ในอนาคตรูปแบบต่างๆ ในส่วนนี้ เราเริ่มต้นด้วยการเปิดเผยความไม่แน่นอนที่หลากหลาย หรือส่วนผสมของปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนความหมายโดยนัย จากนั้นเราจะทำรายการและจำแนกความไม่แน่นอนจากแนวโน้มในอดีตและปัจจุบันตามลักษณะของความไม่แน่นอน และจัดทำแผนภาพโดยใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงที่เรียกว่า “แกนความไม่แน่นอน” “(Axes of Uncertainty)”

ที่มา: สถาบัน Future Today
แกนนี้ประกอบด้วยเมทริกซ์ 2 x 2 โดยมีความไม่แน่นอนประเภทต่างๆ วางไว้บนแกนตรงข้าม ภายในแกนนี้ ให้เขียนอธิบายเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหากความไม่แน่นอนมีปฏิสัมพันธ์กัน:

ที่มา: สถาบัน Future Today
สิ่งที่เราได้จากแกนคือต้นแบบสถานการณ์แบบด่วน (rapid scenario prototype) หลากหลายแบบ หรือภาพร่างคร่าวๆ ของความเป็นไปได้ หากต้องการเปลี่ยนไอเดียที่มีแต่โครงเกี่ยวกับอนาคตให้เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นรูปธรรม ให้ใช้ “แนวทางต้นแบบของสถานการณ์” (scenario archetype approaches) ซึ่งเป็นแนวทางที่จัดเรียงสถานการณ์ที่มีแนวโน้ม ตัวขับเคลื่อนเรื่องเล่า และสมมุติฐานร่วมกัน รวมไว้ในหมวดหมู่กว้างๆ
โดยทั่วไปแล้ว มีต้นแบบสถานการณ์อยู่ 4 ประเภท:
- ต่อเนื่อง (Continuation): สภาพที่เป็นอยู่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
- ล่มสลาย (Collapse): ระบบที่เราอาศัยอยู่ประสบภาวะอัมพาตหรือล่มสลาย
- จัดระเบียบ (Discipline): มาตรการเพื่อป้องกันการล่มสลายถูกนำมาใช้
- เปลี่ยนแปลง (Transformation): ระเบียบใหม่ ระบบใหม่ วิถีชีวิตใหม่มาแทนที่ของเดิม
คุณสามารถใช้โครงเรื่องเล่าข้างต้นเป็นตัวจำแนกประเภทในแบบที่คุณเห็นว่าเหมาะสม หรือสร้างต้นแบบสถานการณ์ในรูปแบบของคุณเอง
3. ก้าวสู่อนาคตด้วยการวางแผนเชิงกลยุทธ์
เมื่อเรามีต้นแบบสถานการณ์อยู่ในมือแล้ว เราสามารถนำมาใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์การปรับตัวของเราได้ ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องทำการวิเคราะห์ช่องว่าง (gap analysis) เพื่อตรวจสอบภัยคุกคามและโอกาสที่แต่ละสถานการณ์นำเสนอ เมื่อคุณเลือกวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่คุณต้องการติดตามไปให้ถึงแล้ว ก็ถึงเวลาค้นหาเส้นทางที่จะพาคุณไปที่นั่น ซึ่ง Backcasting หรือการพยากรณ์ย้อนหลัง เป็นเครื่องมือมองการณ์ไกลอีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่องนี้ ตั้งเป้าหมายที่ต้องการ จากนั้นย้อนกลับมาพิจารณาหาสิ่งที่คุณต้องทำหรือเอาชนะเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต

ที่มา: Roxi Nicolussi
และด้วยแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมที่จะช่วยให้คุณก้าวไปข้างหน้า ตอนนี้คุณก็เปลี่ยนสัญญาณอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งของคุณท่ามกลางความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนได้ในที่สุด!
ที่มา: สถาบัน Future Today