บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 30.08.2023

คุณอาจเคยได้ยินคำว่าการมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์ (strategic foresight) หรือเคยเข้าร่วมการสนทนาเกี่ยวกับการคิดล่วงหน้า (forward-thinking) และวิธีการมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองระยะยาวมาแล้วบ้าง แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ทั้งยากจะคาดเดาและน่าตื่นเต้น ปัญหาของความไม่แน่นอนที่กว้างใหญ่ไพศาลก็คือ มัน กว้างใหญ่เกินไปจนไม่สามารถหาจุดที่เราจะเริ่มต้นได้ จะเริ่มต้นที่ไหนดี? ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์กับเราอย่างไร? บทความนี้จะช่วยคุณตอบคำถามเหล่านี้ เพื่อให้คุณสามารถเริ่มก้าวเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างมั่นใจ

คำถามแรก: ผลลัพธ์ที่คุณต้องการคืออะไร

เวย์น เพน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบัน Institute for the Future (IFTF) แนะนำว่า ขั้นตอนแรกสู่การมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์ คือการกำหนดว่าคุณหวังว่าจะบรรลุอะไรจากกระบวนการนี้ มีความเป็นไปได้หลากหลาย แต่เราสามารถจำกัดลงเป็น 2 ประเภทกว้างๆ ดังนี้:

  • เนื้อหา (content) – เป้าหมายสูงสุดของคุณคือการคาดการณ์และการมองการณ์ไกลในรูปแบบอื่นๆ งานของคุณจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างเนื้อหาข้อมูลการคาดการณ์
  • ขีดความสามารถ (capacity) – คุณต้องการให้การคาดการณ์และการมองการณ์ไกลรูปแบบอื่นๆ ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เพิ่มความสามารถของคุณในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงตามที่คุณต้องการ หรือเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้าง

งานที่เน้นการสร้างเนื้อหาจะขับเคลื่อนคุณไปสู่เรื่องเล่าและวิสัยทัศน์แห่งอนาคต โดยมีหัวใจสำคัญเป็นการสร้างสถานการณ์จำลอง (scenario) ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นและมีหลักฐานข้อมูลรองรับหนักแน่น ในทางกลับกัน โครงการที่มุ่งเน้นขีดความสามารถจะใช้การมองการณ์ไกลเพื่อกระตุ้นผู้เกี่ยวข้องให้ขยายความคิดเกี่ยวกับสมมติฐานและการตัดสินใจ โดยกุญแจสำคัญคือการรวบรวมบทเรียนที่ได้เรียนรู้ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องคำนึงถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนทำความเข้าใจการมองการณ์ไกลเช่นกัน

ผลลัพธ์ที่กำหนดไว้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมันจะเป็นตัวกำหนดทิศทางสำหรับวัตถุประสงค์และแนวทางการมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์ของคุณ เวย์นตั้งข้อสังเกตว่า คุณควรพยายามตั้งเป้าหมายและความคาดหวังที่เป็นไปได้จริงสำหรับการมองการณ์ไกล เนื่องจากคุณต้องคำนึงถึงข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นกรอบเวลา งบประมาณ ขีดความสามารถ ความพร้อม และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของเรา สิ่งที่เราต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถทำได้หรือจำเป็นในตอนนี้

สถาบัน Future Today  ยังนำเสนอแนวทางที่คล้ายกันในการกำหนดขอบเขตการมองการณ์ไกล โดยแบ่งผลลัพธ์ออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • ข้อมูลเชิงลึก (insight) – 1) คุณต้องการดำดิ่งสู่แนวโน้มและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงโอกาสใหม่ๆ ที่ยังไม่ถูกสำรวจมาก่อน และ 2) ใช้ความรู้นั้นเพื่อกำหนดกลยุทธ์ของคุณให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
  • การลงมือทำ (action) – 1) คุณต้องการลงมือดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีแผนยุทธวิธีชัดเจนในแต่ละขั้น หรือ 2) มุ่งหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถึงฐานรากในองค์กรของคุณ

หลังจากประเมินความต้องการและขีดความสามารถแล้ว คุณอาจรู้แล้วว่าคุณกำลังมุ่งหน้าไปที่ใด ซึ่งพาเราไปสู่…      

คำถามที่สอง: ภารกิจใดที่คุณต้องจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

หากคุณเน้นข้อมูลเชิงลึก คุณอาจต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการรวบรวมหลักฐานและการวิเคราะห์แนวโน้ม สถานการณ์จำลองในอนาคตที่สร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบจะชี้ทางไปสู่ผลลัพธ์ระยะยาว ซึ่งการจะสร้างสถานการณ์จำลองที่ดีได้นั้น จำเป็นต้องระบุสัญญาณที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยขับเคลื่อนเชิงโครงสร้าง ผ่านการกวาดหาสัญญาณแนวราบ (horizon scanning) อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการปรับปรุงกลยุทธ์ของคุณ คุณควรมุ่งสนใจผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะปรากฎให้เห็นในระยะสั้น หรือเกิดขึ้นภายในกรอบเวลาเชิงกลยุทธ์ของคุณ ลำดับความสำคัญและน้ำหนักของแนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่แต่ละแนวโน้มจะขึ้นอยู่กับว่ามันเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ของคุณมากน้อยเพียงใด

ตัวอย่าง

ประเทศมอริเชียสต้องการหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยเปลี่ยนบริการสาธารณะให้กลายเป็นแกนนวัตกรรมของการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลมีแผนที่จะจินตนาการถึงสถานการณ์ของประเทศมอริเชียสในปี 2025 โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชน และรูปแบบการให้บริการสาธารณะที่เกิดขึ้นใหม่

 เพื่อให้บรรลุผลเหล่านี้ รัฐบาลตัดสินใจใช้วิธีการมองการณ์ไกลดังต่อไปนี้:

● การกวาดหาสัญญาณแนวราบและแนวโน้ม (Horizon scanning and trends)
● การวิเคราะห์ผลกระทบแบบไขว้ (Cross-impact analysis)
● การวิเคราะห์ผลกระทบของแนวโน้ม (Trend impact analysis)
● การสร้างภาพสถานการณ์โดยรวม (Scenarios – Generic Images)
● การทำต้นแบบนวัตกรรมการบริการ (Prototyping service innovation)

 ที่มา: The Foresight Manual – Empowered Futures for the 2030 Agenda (น. 38)

หากคุณมีเป้าหมายเป็นโอกาสในการลงมือดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่ขยายขอบเขตขององค์กรของคุณ คุณจะต้องค้นหาความแปลกใหม่ โดยอาจระบุความเป็นไปได้ เช่น พื้นที่ในการเติบโตที่มีศักยภาพและยังไม่ถูกค้นพบ หรือแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาหรือการปรับตัว และในขณะเดียวกันก็พัฒนากรอบยุทธวิธีที่ช่วยขจัดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อการเคลื่อนไหวในอนาคตของคุณให้มากที่สุด ในกรณีที่คุณต้องการการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลลัพธ์ใหญ่ คุณอาจต้องการเครื่องมือที่ช่วยให้คุณระบุผลลัพธ์ในอนาคตและย้อนหลังกลับมายังปัจจุบัน (backcasting) หรือเครื่องมือที่ทำให้คุณตรวจสอบผลกระทบจากการตัดสินใจของคุณอย่างต่อเนื่อง (wind-tunnelling)

ตัวอย่าง

รัฐบาลของประเทศกาบูเวร์ดีต้องการระบุค้นหาโอกาสสำหรับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ที่ยังไม่ถูกทดสอบ หนึ่งในความต้องการที่โดดเด่นที่สุดของประเทศคือเศรษฐกิจใหม่ที่มุ่งเน้นการเติบโตของภาคเอกชนและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และตอบสนองต่อความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ระหว่างภาคพลเมืองกับภาครัฐ

เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์เหล่านี้ รัฐบาลใช้วิธีการมองการณ์ไกลที่เกือบจะเหมือนกับกรณีของมอริเชียส อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกาบูเวร์ดีเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่นโยบาย/โครงการที่มีลำดับความสำคัญสูง เช่นเดียวกับโครงสร้างของรัฐบาลใหม่ เช่น การก้าวข้ามภาคส่วน

ที่มา: The Foresight Manual – Empowered Futures for 2030 Agenda (น. 35)

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top