บทความ / เยาวชน
Written By
Published: 04.07.2022

Key Insights

  • เมื่อปี 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจสุขภาพจิตของคนไทย โดยเกือบร้อยละ 50 ระบุว่า ตนวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิดในระดับ ‘มาก’ จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และกลุ่มเยาวชน (อายุ 15 – 24) คือกลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพจิตรั้งท้ายเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ
  • ที่สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่สาหัส ครูระดับชั้นมัธยมจำนวนหนึ่งได้หันหน้ามาคุยกันเรื่องจุดประสงค์ของการวัดผลแบบดั้งเดิม หรือว่าการใช้เกรด และหันมาใช้การวัดผลแบบทางเลือกแทน
  • การแพร่ระบาดของโควิดทำให้การเรียนถดถอย และสร้างความกังวลให้กับผู้เรียนที่จะเข้าศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษามากเป็นพิเศษ บางรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย จึงอนุญาตให้นักเรียนเปลี่ยนผลการเรียนของตัวเองเป็น “ผ่าน/ไม่ผ่าน”

 

เยาวชนได้รับผลกระทบจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร นับตั้งแต่โควิดเข้าสู่ประเทศของเรา มีเยาวชนเกือบ 240,000 คนหลุดจากระบบการศึกษารูปแบบต่างๆ เช่น ศึกษาภาคบังคับ หรืออาชีวศึกษา และในจำนวนเด็กไทย 100 คน มีเด็กมากถึง 16 คน ที่ไม่สามารถเรียนหนังสือต่อได้ เพราะความยากจน ขาดความช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ และขาดแคลนอุปกรณ์กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับการเรียนออนไลน์  ส่วนจำนวนของนักเรียนที่เข้าข่ายยากจนพิเศษนั้นพุ่งทะลุ 1 ล้านคน เป็นสถิติใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  สอดคล้องกับผลสำรวจของ Thailand Policy Lab ที่ชี้ว่า สุขภาพจิตเป็นปัญหาที่เยาวชนไทยมองว่าต้องมีนโยบายแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการออกแบบนโยบายสุขภาพจิตเพื่อเยาวชนโดยเยาวชนของ Thailand Policy Lab

ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่เราจับต้องได้ และมองเห็นได้ นี่ยังไม่รวมปัญหาที่มาในรูปแบบที่เรามองไม่เห็นอีก

ในขณะที่เหล่าเยาวชนถูกรุมเร้าด้วยวิกฤติปากท้องและระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อ พวกเขาก็ต้องรับมือกับความเจ็บปวดในใจไปด้วย เมื่อปี 2563 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจสุขภาพจิตของคนไทย โดยเกือบร้อยละ 50 ระบุว่า ตนวิตกกังวลกับสถานการณ์โควิดในระดับ ‘มาก’ จนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และเมื่อพิจารณาเพิ่มเติม พบว่า กลุ่มเยาวชน (อายุ 15 – 24) คือกลุ่มที่มีคะแนนสุขภาพจิตรั้งท้ายเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่นๆ

ภาวะเครียดสูง โรคซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย – นี่คือสิ่งที่เยาวชนถึงร้อยละ 30 โดยประมาณกำลังเผชิญอยู่ และปัญหานี้ไม่ได้มีที่มาจากตัวพวกเขาเอง แต่มาจากสถานะสังคม-เศรษฐกิจที่ติดปลักความยากจน มากกว่า 7 ใน 10 ของเยาวชนต้องแบกรับความเครียดและความวิตกกังวล เพราะปัญหาปากท้องของครอบครัว

การเข้ามาของโควิดทำให้ผู้เลี้ยงดูสูญเสียงานและรายได้ โดยเฉพาะผู้ทำธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมบริการอาหาร และธุรกิจโรงแรม และในขณะที่เงินสำหรับยังชีพลดลง ภาระการดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วยกลับเพิ่มขึ้นอีกเท่าทวี ซ้ำร้ายการเรียนออนไลน์ยังแปลว่า ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ไอทีและอินเทอร์เน็ตแทรกซ้อนตามมาอีก การสู้ชีวิตเพื่อลืมตาอ้าปากได้กลายร่างมาเป็นความเครียดและความป่วยไข้ทางใจรูปแบบต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นมรดกที่สังคมส่งต่อให้กับผู้ปกครอง และผู้ปกครองส่งต่อให้กับเยาวชนอีกที

แล้วแบบนี้ จะทำอย่างไรดี ถึงจะประคองทั้งจิตใจและชีวิตของพวกเขา จะแก้ที่ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาการศึกษา หรือปัญหาปากท้องดี?

ลดเครียด-ปรับตัวตามสถานการณ์ชวนดิ่งด้วยการเรียนที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม

ที่สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่สาหัส ครูระดับชั้นมัธยมจำนวนหนึ่งได้หันหน้ามาคุยกันเรื่องจุดประสงค์ของการวัดผลแบบดั้งเดิม หรือว่าการใช้เกรดนั่นเอง

เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย การเรียนการสอนที่สหรัฐอเมริกาพึ่งพาการระบบวัดเกรดจาก 1-100 และจำแนกคนออกเป็นลำดับเกรดต่างๆ โดยใช้การสอบแบบที่มีเดิมพันสูง (high-stake testing) หรือการใช้ข้อสอบที่มีคะแนนมาก วัดผลลัพธ์ในการเรียน เรียกได้ว่าใช้ข้อสอบเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย ไม่มีการกลับไปแก้ไขใดๆ ได้

แต่เดิมการเรียนโดยเน้นการสอบมีปัญหาอยู่แล้ว เนื่องจากระบบนี้ให้ผลประโยชน์กับนักเรียนที่ไม่มีภาระติดตัว ส่วนนักเรียนที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย หรือมีทรัพยากรในการเรียนน้อย มักถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่สามารถทำการบ้านให้เสร็จสิ้นหรือเอาเวลาไปติวเพื่อสอบได้เหมือนคนอื่น วิกฤติสาธารณสุขอย่างโควิด 19 ยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวย่ำแย่ยิ่งกว่าเดิม สถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนจำนวนหนึ่งจึงเปลี่ยนไปใช้ระบบวัดผลทางเลือก (alternative grading system) แทน

ตัวอย่างของระบบวัดผลทางเลือกได้แก่ การตัดงานที่ไม่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของนักเรียนออก ปรับกฎเกณฑ์ในการทดสอบและส่งงานให้เข้มงวดน้อยลง เช่น ไม่หักแต้มหากนักเรียนส่งงานช้า เปิดโอกาสให้นักเรียนแก้ไขงานที่ส่งไปอีกครั้ง และปรับนโยบายสอบซ่อมให้ยืดหยุ่นมากขึ้น และไม่นำการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนหรือคุณลักษณะอื่นๆ มาเป็นตัวตัดสินคะแนนเนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับการเรียนรู้เลย และทำให้ครูสนใจกับพฤติกรรมนักเรียนมากกว่าความก้าวหน้าในการเรียนจริงๆ

ครูบางคนใช้ระบบให้คะแนนตอนท้าย (delayed grading) ทำข้อสัญญาระหว่างผู้สอนและผู้เรียน (learning contract) สำหรับระบบให้คะแนนตอนท้าย ครูจะไม่ให้คะแนนกับงานต่างๆ เลยทันที เพื่อไม่ให้มีอะไรมาบั่นทอนความมั่นใจในการเรียน แต่ในแต่ละครั้งครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาสะท้อนเกี่ยวกับการเรียน หรือเขียนบอกเล่าความคิดให้ฟัง และครูจะสะท้อนกลับไปก่อนจะให้คะแนน

ในส่วนของข้อสัญญาระหว่างผู้สอนและผู้เรียน นักเรียนมีอำนาจในการกำหนดเองว่า ต้องทำงานเท่าไหร่ถึงจะได้เกรดที่ต้องการ และในระหว่างภาคเรียน ครูบางคนจะสะท้อนความคิดเกี่ยวกับความก้าวหน้าของนักเรียนแต่ละคนและเข้าไปพูดคุยกับนักเรียนเป็นการส่วนตัว 5 ครั้ง

ผู้สอนแต่ละคนที่เปลี่ยนวิธีวัดผลกล่าวไปในทางเดียวกันว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลานาน แน่นอนว่าการหันเหไปจากวิถีในการทดสอบแบบเดิมๆ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ และตัวครูก็ขัดแย้งกับครูคนอื่นและผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบวัดผลทางเลือกทำให้ครูได้ทบทวนกับตัวเองอีกทีว่า จริงๆ แล้วเราวัดผลทำไม? ทำไมถึงต้องทำแบบเมื่อก่อน? มันเกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนรู้ และเกิดประโยชน์จริงหรือ?

ถึงแม้นี่จะไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับนักเรียนดีขึ้นอย่างมาก ครูผู้ใช้ระบบใหม่ระบุว่า การวัดผลแบบดังกล่าวเป็นเสมือนการปฏิบัติกับนักเรียนอย่างเท่าเทียม และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงว่าตนรู้อะไรบ้าง แม้จะมีคำถามโยนกลับมาหาว่า “แล้วถ้านักเรียนหาวิธีเอาเปรียบจากระบบล่ะ?” แต่ครูบางส่วนยังคงเชื่อมั่นว่า เราควรออกแบบระบบที่ผลักดันส่งเสริมคนเรียน ไม่ใช่ระบบที่ตั้งอยู่บนความกลัวว่า “ใครจ้องจะเอาเปรียบ?” เพราะไม่ว่าจะระบบไหน มันก็มีช่องว่างอยู่แล้ว

ในระดับอุดมศึกษา ระบบวัดผลทางเลือกนั้นแพร่หลายมากกว่า นับตั้งแต่ไวรัสโควิดกลายเป็นวิกฤติระดับชาติ คณาจารย์ตามรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกายกเลิกการสอบแบบที่มีเดิมพันสูงที่จัดสอบเพียงไม่กี่หน เปลี่ยนมากระตุ้นให้นักศึกษาทำแบบทดสอบย่อยๆ เพื่อให้นักศึกษาสะท้อนความก้าวหน้ากับตัวเอง โดยผู้เรียนมีโอกาสในการทำแบบทดสอบอันเดิมได้อีกหน

กลุ่มอาจารย์ภาควิชาเคมีที่สหรัฐอเมริกาได้ร่วมตัวกันผลักดัน “specifications grading” โดยอาจารย์และผู้ช่วยสอนจะร่วมกันกำหนดความคาดหวังในสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับอย่างละเอียด หากผู้เรียนแสดงได้ว่ามีความเข้าใจขั้นพื้นฐาน จะผ่านชั้นเรียนนั้น หากไม่ ผู้เรียนจะได้รับโอกาสให้แก้ไขงานหรือแบบทดสอบอีกครั้ง เช่น  นักศึกษาสามารถดูคลิปวีดิโอหรืออ่านงานที่จำเป็นกับคอร์สเรียน ก่อนจะเข้าสอบใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมใหม่ นโยบายนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียน ฝึกฝน และลองใหม่ ไม่ต่างอะไรจากชีวิตจริง

ถึงเวลาหยุดสอบ?

การแพร่ระบาดของโควิดทำให้การเรียนถดถอย และสร้างความกังวลให้กับผู้เรียนที่จะเข้าศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษามากเป็นพิเศษ บางรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย จึงอนุญาตให้นักเรียนเปลี่ยนผลการเรียนของตัวเองเป็น “ผ่าน/ไม่ผ่าน” ด้านกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐประกาศให้มหาวิทยาลัยรัฐรับนักเรียนที่มีผลการเรียนชนิด “ผ่าน/ไม่ผ่าน” และยกเลิกการใช้ “แบบทดสอบมาตรฐาน” (standardized test) อย่าง SAT ในปี 2020 เป็นกรณีพิเศษ

การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นหลังจาก National Center for Fair & Open Testing หรือ FairTest จัดแคมเปญรณรงค์เรียกร้องให้ยุติการจัดแบบทดสอบมาตรฐานในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2021 และมีผู้เข้าร่วมมากกว่าพันคน โดยผู้ปกครองมากกว่า 64% สนับสนุนให้ยกเลิกการจัดแบบทดสอบมาตรฐาน

ผู้สนับสนุนแคมเปญดังกล่าวเห็นพ้องว่า ข้อสอบเอื้อให้ผู้มีอภิสิทธิ์ทางสังคมทำคะแนนมากกว่า คะแนนจึงสะท้อนสถานภาพทางสังคม-เศรษฐกิจของผู้เข้าสอบมากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจริงๆ และในช่วงโรคระบาด ระบบการศึกษาควรพุ่งไปที่การบรรเทาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ และการกระจายงบประมาณการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน มากกว่าจะจัดสอบชนิดที่เดิมพันสูง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้นักเรียนต้องพะว้าพะวงและเครียดยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด 19

FairTest ระบุว่า ในปี 2022 มหาวิทยาลัยมากกว่า 1,830 แห่ง (หรือร้อยละ 80) ไม่เรียกร้องให้ผู้สมัครยื่นแบบทดสอบมาตรฐาน และมีมากกว่า 1,400 ที่ตั้งใจจะใช้แนวทางนี้ต่อไปในปีการศึกษา 2023 โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดในการสมัครที่ต่างกันไป เช่น ให้ผู้สมัครยื่นรายงานที่แสดงเกรดหรือผลสอบ Advanced Placement ควบคู่กับเกรดเฉลี่ย

สุดท้ายแล้ว ระบบวัดผลทางเลือกนั้นมีหลายวิธี และไม่ได้มีฉันทามติตายตัวในหมู่ผู้สอนว่าวิธีใดถูกต้องที่สุด และใช้ได้กับทุกกรณี แต่หัวใจสำคัญของระบบนี้คือ ความยืดหยุ่น และการให้ความสำคัญความเป็นอยู่ดีของผู้เรียนเท่าๆ กับการเรียนรู้ เหล่านี้คือนโยบายการศึกษาที่มีหัวใจเดียวกัน คือมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และอาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะหันมาพิจารณานโยบายการศึกษาที่ยืดหยุ่นและปรับตัวเข้าหาผู้เรียนบ้าง

งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top