Blog , บทความ / นวัตกรรมเชิงนโยบาย
Published: 28.06.2023

หากผู้พิการทางสายตา คนที่มีอาการตาอักเสบ และคนสายตาสั้นที่ลืมเอาแว่นมากำลังจะข้ามถนน พวกเขาต้องเจอปัญหาอะไรที่เหมือนกัน และ/หรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง? 

ปัญหาร่วมระหว่างพวกเขาทั้งสามคือไม่รู้ว่าตอนไหนข้ามถนนได้

เพราะมองรถและสัญญาณไฟได้ไม่ชัด แต่เกิดจากสาเหตุที่ต่างกัน ซึ่งทำให้ให้บริบทของปัญหา และการแก้ไขต่างออกไปด้วย

แล้วจะมีวิธีการออกแบบใดไหม ที่จะสามารถตอบโจทย์ทุกคนได้?

ข้อแตกต่างระหว่าง Accessible Design และ Inclusive Design

ปกติแล้วในการออกแบบบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะหรือนโยบายสำหรับผู้พิการที่มีความต้องการเฉพาะ เรามักจะใช้การออกแบบที่เรียกว่า Accessible Design (การออกแบบเพื่อให้คนเข้าถึงได้) ซึ่งเน้นทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้ที่มีความบกพร่องเฉพาะแบบอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นผู้พิการทางสายตา การออกแบบจึงจะเน้นไปที่ “ผลลัพธ์” ของสิ่งที่ทำว่าทำให้กลุ่มผู้มีความบกพร่องนั้นเข้าถึงได้หรือไม่ ในกรณีนี้การออกแบบพิเศษให้ผู้พิการทางสายตา เช่น เพิ่มสัญญาณเสียง ป้ายอักษรเบรลล์ หรือแอพพลิเคชั่นเสริมที่ช่วยบอกสัญญาณไฟ ฯลฯ 

แนวทางการออกแบบแบบนี้มักจะแบ่งผู้ใช้เป็น “ผู้ใช้ทั่วไป” กับ “ผู้ใช้ที่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ” การแก้ปัญหาจึงตอบสนองเพียงกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

แต่จะเห็นว่าในตัวอย่างที่ยกมานั้น คนที่ข้ามถนนไม่สะดวก ไม่ได้มีเพียงแต่ผู้พิการทางสายตา แต่มีผู้คนหลากหลายสถานการณ์และข้อจำกัดอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นคนที่ตาอักเสบหรือคนสายตาสั้นมากๆ ซึ่งถือเป็นอาการชั่วคราว แต่พวกเขาไม่มีทักษะการอ่านอักษรเบรลล์ ไม่เคยถูกฝึกให้ข้ามถนนเมื่อมองไม่เห็น อาจไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ไม่เข้าใจสัญญาณเสียงหรือไม่รู้จักเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยผู้พิการทางสายตา ทำให้การออกแบบเพื่อให้คนเข้าถึงได้ หรือ Accessible Design ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่สามารถตอบสนองคนได้ครอบคลุมนัก ที่สำคัญผู้ใช้ถนนนั้นมีหลายประเภท ซึ่งมีความต้องการต่างๆ กันไป อย่างเช่น คนนั่งรถเข็น คนใช้ไม้เท้า คนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน คนตาบอดสี  รวมไปถึงเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ฯลฯ ดังนั้นในการออกแบบบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะจึงเน้นใช้แนวคิดการออกแบบแบบ Inclusive Design (การออกแบบเพื่อทุกคน) โดยแนวคิดนี้จะเน้นการหาและทำความเข้าใจข้อจำกัดของหลายๆ คน ในหลายๆ บริบทสถานการณ์ที่นอกเหนือไปจากกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ เพื่อให้คนหลายกลุ่มใช้งานได้ง่าย แนวคิดนี้จะมองผู้ใช้ทุกคนว่าเป็นกลุ่ม “ผู้ใช้ที่หลากหลาย” โดยแยกกลุ่มส่วนใหญ่ออกมาเป็น “ผู้ใช้ทั่วไป” 

ข้อเหมือนระหว่าง Accessible Design และ Inclusive Design

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวคิดมีพื้นฐานเดียวกันคือ การคิดถึงว่าคนๆ หนึ่งอาจเจอสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดบางประการ ทำให้เขาไม่สามารถใช้บริการหนึ่งๆ ได้ การออกแบบในทั้งสองแนวคิดจะกระตุ้นและเปิดมุมมองให้นักออกแบบพยายามคิดถึงและเห็นอกเห็นใจคนที่มีข้อจำกัดและสถานการณ์ต่างไปจากชีวิตของผู้ออกแบบได้ 

นโยบายเองก็นับเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์ ดังนั้นแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคนจะช่วยให้ผู้ทำนโยบายมองที่กระบวนการและวิธีการแก้ไขสถานการณ์มากกว่าการเน้นผลที่ช่วยคนได้กลุ่มเดียว ซึ่งจะทำให้การออกแบบนโยบายมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์และรองรับข้อจำกัดที่หลากหลายได้

[นักออกแบบทำให้ดีขึ้นได้อีก!]

> ลองสังเกตวิธีที่ผู้คนใช้แก้ปัญหาต่างๆในชีวิตจริงของเขา เราอาจจะได้วิธีการมองและแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ก็ได้

> ทำความเข้าใจผู้ใช้งานอย่างเข้าอกเข้าใจ (empathy) ซึ่งอาจเริ่มจากการทดลอง “ใช้ชีวิตแบบผู้ใช้งานหลายๆ กลุ่ม” อย่างเช่น ลองนั่งรถเข็นเพื่อเดินทางตามฟุตบาทและข้ามถนน (แน่นอนว่าต้องมีคนไปด้วยหรือทำในพื้นที่ทดลองที่ปลอดภัยนะ!) เพื่อเข้าใจสถานการณ์และได้มุมมองจากผู้ใช้จริง เพื่อออกแบบได้ตรงจุดขึ้น 

หรืออีกทางหนึ่งคือ ร่วมออกแบบกับผู้ที่มีความต้องการที่หลากหลายเพราะไม่มีใครจะเข้าใจความต้องการของพวกเขาได้ดีกว่าผู้ที่มีความต้องการนั้นๆ (co-creation) เช่น ทีมการออกแบบเรื่องการข้ามถนน อาจขอความเห็นจากผู้พิการทางสายตา ผู้นั่งรถเข็น คนแก่ เด็ก คนตาบอดสี นำเพื่อมาร่วมออกแบบไปด้วยกัน

สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจเสมอคือ เราต้องพยายามหลุดออกจากการออกแบบที่แบ่งกลุ่ม “ผู้ใช้ธรรมดา” ออกจาก “ผู้ใช้ที่มีความต้องการพิเศษ” แต่เราต้องออกแบบเพื่อ “ผู้ใช้หลากหลายกลุ่มที่มาพร้อมหลายข้อจำกัด” แทน เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับทุกมิติความแตกต่างได้



งานของเรา
สำรวจการนำนวัตกรรมมาออกแบบนโยบาย
คลังความรู้
เรียนรู้ด้านนโยบายสาธารณะ
ร่วมกับเรา
ออกแบบนโยบายกับเรา
Back to Top